สุวิทย์ เมษินทรีย์ มอบหมาย สทบ.พัฒนาโครงการยกระดับ ร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน ใน 20,000 หมู่บ้าน

0
762
image_pdfimage_printPrint

สุวิทย์ เมษินทรีย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก มอบหมาย สทบ.พัฒนาโครงการยกระดับ
ร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน ใน 20,000 หมู่บ้าน

เพื่อเสริมศักยภาพอีกกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) โดย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ประธานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติ (กทบ.) มอบนโยบาย “โครงการยกระดับร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน” ใน 20,000 หมู่บ้านให้ยกระดับสู่ความสำเร็จในยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยองค์ความรู้ เครือข่ายความร่วมมือและเทคโนโลยี ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมจัดอบรมโครงการยกระดับร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน รุ่นที่ 1 โดยเริ่มจากผู้แทนร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านฯ 200 แห่งในภาคกลาง

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ขับเคลื่อนงานปฏิรูปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 และประธานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) กล่าวว่า ประเทศไทย ของเรากำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูป เพื่อพัฒนาทุกภาคส่วนไปสู่เป้าหมาย Thailand 4.0 ในอีก 20 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริบทของโลกเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล มีการเชื่อมโยงที่มากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้นและความแน่นอนน้อยลง ทั้งนี้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติ (สทบ.) เห็นความสำคัญของกองทุนหมู่บ้านที่เป็นกลไกในการผลักดัน Local Economy โดยเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกกว่า 13 ล้านคน นับเป็นกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบประชาธิปไตยและการทำงานที่โปร่งใส มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน มุ่งเน้นการแก้ปัญหาและพัฒนาศักยภาพประชาชนให้อยู่ดีมีสุข การช่วยเหลือเกษตรกร ธุรกิจ SME วิสาหกิจชุมชน และหมู่บ้าน ทั้งประเทศ ซึ่งมีจำนวนเกือบ 80,000 หมู่บ้าน ให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันสู่ หมู่บ้าน 4.0 และ“ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งยุทธศาสตร์กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ มี 4 โครงการหลัก ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมและพัฒนากองทุน ประกอบด้วย สถาบันการเรียนรู้ สัมมาประชารัฐ ฟื้นฟูและพัฒนากองทุน พัฒนาองค์ความรู้ 2) โครงการพัฒนาการบริการประชาชน ประกอบด้วย สถาบันการเงินชุมชน ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ 3) โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย โครงการประชารัฐ ร้านค้าต้นแบบ,ตลาดต้นแบบ 4) พัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน ประกอบด้วย โครงการพัฒนาเมือง โครงการ SML สินค้าหมู่บ้าน/ชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน

“โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ” ในปี 2559 ที่ผ่านมาดำเนินการภายใต้กรอบวงเงิน 35,000 ล้านบาท โดยได้สนับสนุนเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำนวนกว่า 66,000 กองทุน รวมวงเงินกว่า 33,000 ล้านบาท และในปี 2560 ดำเนินการภายใต้กรอบ 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลการเกษตร โรงผลิตปุ๋ย ฯลฯ และหนุนเศรษฐกิจฐานรากขยายตัวทั้งตลาดชุมชนและร้านค้าชุมชน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติจึงได้พัฒนาโครงการยกระดับ “ร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน” ซึ่งในปัจจุบันได้เปิดดำเนินการร้านค้าแล้วใน 20,000 หมู่บ้านจากจำนวนรวมทั้งประเทศ 80,000 หมู่บ้าน โดยมุ่งพัฒนาตลาดและร้านค้าเพื่อประชารัฐชุมชน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ได้เล็งเห็นประโยชน์ของ “ร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน” เป็นเสมือนเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจฐานรากที่มีความสำคัญ เพื่อที่จะสร้างอาชีพในชุมชนหมู่บ้านอย่างยั่งยืน สร้างเวทีให้สินค้าชุมชนมีช่องทางการจำหน่าย เพื่อเติบโตก้าวหน้าเป็นสินค้าสร้างอนาคตประเทศ (New S-Curve) ลดรายจ่ายให้ประชาชนในทุกพื้นที่จากการเข้าถึงสินค้าราคายุติธรรม และคืนกำไรจากการดำเนินการกลับสู่ชุมชน เพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่นและต่อยอดการสร้างโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ประธานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติ (กทบ.)ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติได้พัฒนาระบบเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของระบบร้านค้าประชารัฐ สู่เป้าหมาย “Thailand 4.0” โดยมีหลักปฏิบัติ 5 ประการคือ 1) สร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์จากทุนทางสังคมและฐานสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อให้เกิดเอกลักษณ์ที่นำไปสู่ความสามารถในการแข่งขัน 2) ปรับระบบการทำงานของกิจการโดยใช้ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อให้ร้านค้าเติบโตได้ในระยะยาว 3) การบูรณาการร้านค้าเพื่อสร้างเครือข่ายที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน โดยต้องมองว่า ร้านค้าชุมชนสามารถนำสินค้าของชุมชนอื่นมาขายได้จากต่างพื้นที่ และสามารถเป็นที่รวบรวมสินค้าในชุมชนเพื่อนำออกไปขายทั่วประเทศ เป็นการสร้างเครือข่ายร้านค้าที่ช่วยเหลือกัน ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 4) สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์เอกลักษณ์ของชุมชนแต่ละแห่ง โดยอาจมองไปที่การให้บริการต่างๆ ที่ชุมชนต้องการเพื่อยกระดับร้านค้าเป็นศูนย์รวมทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน 5) ขับเคลื่อนกิจการด้วยการตัดสินใจบนข้อมูลอย่างชาญฉลาด เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและได้ผล สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา การยกระดับตลาดและร้านค้าประชารัฐเพื่อประชาชนจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง โดยจะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นกว่า 5 – 6 หมื่นล้านบาทต่อปี สร้างงานที่เป็นสัมมาชีพให้แก่ประชาชนในชุมชน/หมู่บ้านกว่า 5 แสนอัตรา อีกทั้งเป็นการสร้างกลไกรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างตรงจุด โปร่งใสและวัดผลได้จริง

นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า “โครงการยกระดับร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน” วางแนวทางการดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การออกแบบโครงสร้างและแนวทางการยกระดับตลาดและร้านค้าชุมชนสู่ความสำเร็จในยุค 4.0 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องระหว่างหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้อย่างคล่องตัวและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แท้จริง 2) การเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการตลาดและร้านค้าชุมชนให้มีความพร้อมในการยกระดับการดำเนินการสู่ความสำเร็จในยุค 4.0 ทั้งนี้ โดยจัดหลักสูตรอบรมระดับพื้นฐาน (Fundamental Course) และหลักสูตรอบรมระดับสูง (Advanced Course) เพื่อต่อยอดให้เป็นต้นแบบความสำเร็จมาสร้างให้เป็นแฟรนไชส์ “ตลาดและร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน โดยจะดำเนินการอบรมหลักสูตรพื้นฐานในปี 2560 จำนวน 5 รุ่นๆ ละ 200 แห่ง ” 3) พัฒนาระบบเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับการยกระดับตลาดและร้านค้าชุมชนสู่ความสำเร็จในยุค 4.0 ได้แก่ ระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการภายในตลาดและร้านค้าชุมชน ให้ตลาดและร้านค้าชุมชนใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันเช่น ระบบบัตรสมาชิกตลาดและร้านค้าชุมชนให้เป็นระบบและมีศักยภาพ ที่สามารถใช้สร้างกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ เช่น การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย การสะสมแต้มของสมาชิกและเชื่อมโยงกับระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ , ระบบเชื่อมโยงสินค้าระหว่างชุมชน เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าในชุมชนต่างๆ ให้มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้า และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสินค้า , ระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่ชาญฉลาด เพื่อให้ตลาดและร้านค้าชุมชนนำไปกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานต่างๆ และสามารถเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการชุมชนอย่างมีหลักการเพื่อกำหนดและติดตามนโยบายได้อย่าง ตรงจุดและทันเหตุการณ์ ในด้านแนวโน้มของยอดขายร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน 20,000 แห่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คาดว่าจะมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณปีละ 5 – 6 หมื่นล้านบาท