ECMWF เตรียมเปิดศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในเมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี ภายในปี 2562

0
266
image_pdfimage_printPrint

คณะกรรมการศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (European Centre for Medium-Range Weather Forecasts หรือ ECMWF) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐบาลอันประกอบด้วยตัวแทนจากประเทศสมาชิกทั้งหมด ประกาศการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ของ ECMWF ในเมืองโบโลญญา

(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/526728/ECMWF_Bologna_Entrance.jpg )
(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/526729/ECMWF.jpg )
(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/526730/ECMWF_Silvio_Cau_Florence_Rabier.jpg )
(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/526731/ECMWF_Silvio_Cau_Florence_Rabier_2.jpg )

ข้อเสนอของทางการอิตาลีในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ได้รับการประเมินว่าจะส่งผลดีต่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ และได้รับการอนุมัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ ECMWF เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยทางประเทศสมาชิกได้มอบหมายให้ ดร. ฟลอเรนซ์ เรเบียร์ ผู้อำนวยการ ECMWF ดำเนินการหารือร่วมกับรัฐบาลอิตาลี เพื่อให้วาระดังกล่าวบรรลุข้อตกลงระดับสูงร่วมกัน

โดยหลังจากการอภิปรายและลงคะแนนเสียง บรรดาผู้แทนจากประเทศสมาชิกของ ECMWF ต่างเห็นชอบกับข้อตกลงระดับสูงที่ประเทศอิตาลีเสนอ และอนุมัติให้เมืองโบโลญญาเป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ของ ECMWF ซึ่งตัวอาคารจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 และจะเป็นที่ตั้งของซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ของทางศูนย์ฯ ขณะที่สำนักงานใหญ่จะยังคงอยู่ในสหราชอาณาจักร

ดร. เรเบียร์ ระบุว่า:

“ดิฉันรู้สึกยินดีที่ทางสภาฯ ให้การสนับสนุนข้อเสนอของทางรัฐบาลอิตาลีในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ของ ECMWF อันจะช่วยให้เราเพิ่มขีดความสามารถในการประมวลผลประสิทธิภาพสูงไปสู่ระดับที่จำเป็นต่อการพัฒนาศาสตร์แห่งการพยากรณ์อากาศต่อไป กระบวนการตัดสินใจในครั้งนี้ดำเนินไปอย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรภายใต้ข้อจำกัด อีกทั้งทางศูนย์ฯ ยังประสบกับความล่าช้าบางประการซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการประมวลผลภายในสองสามปีข้างหน้า เราจึงรู้สึกขอบคุณสมาชิกทุกประเทศที่ให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์สูงสุดของ ECMWF อย่างสุดซึ้ง มา ณ โอกาสนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะเจ้าหน้าที่ของทางการอิตาลีซึ่งปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้แน่ใจว่าข้อเสนอดังกล่าวทั้งหมดนั้นบรรลุตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สำหรับการที่ศูนย์ฯ ของเรามีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักร และมีศูนย์ข้อมูลอยู่ในอิตาลีนั้น จะสะท้อนถึงวิถีที่ ECMWF เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ อย่างแท้จริง”

ศาสตราจารย์มิเกล มิแรนด้า ประธานคณะกรรมการฯ เพิ่มเติมว่า:

“การพยากรณ์สภาพอากาศในแต่ละประเทศสมาชิก รวมถึงพื้นที่ห่างไกลอื่น ๆ ล้วนอาศัยการคำนวณเชิงตัวเลขที่แม่นยำที่สุดในโลกจาก ECMWF มาแต่ไหนแต่ไร การตัดสินใจในวันนี้จะช่วยให้ศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ของ ECMWF เริ่มวางแผนจัดซื้อระบบซูเปอร์คอมพิวติ้งใหม่ได้อย่างจริงจัง

ในฐานะประธานคณะกรรมการ ECMWF กระผมและดร. เรเบียร์ ใคร่ขอแสดงความขอบคุณต่อสมาชิกทุกประเทศที่ร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนให้กระบวนการนี้สัมฤทธิ์ผล ศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ดังกล่าวจะจัดตั้งขึ้นในประเทศอิตาลีภายใต้การสนับสนุนหลักจากรัฐบาลแห่งแคว้นเอมิเลีย โรมัญญา ทั้งนี้ ยังคงมีอีกหลายภารกิจที่ ECMWF จะต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่นี้จะแล้วเสร็จภายในสองปีข้างหน้า ซึ่งเรารู้สึกซาบซึ้งในความทุ่มเทและกระตือรือร้นของคณะดำเนินการชาวอิตาลีที่อุทิศให้กับโครงการดังกล่าว

ECMWF เป็นแบบอย่างแห่งความร่วมแรงร่วมใจของชาติยุโรปที่ต่างเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ECMWF ก่อตั้งมาเป็นเวลาสี่ทศวรรษแล้ว และยังคงมีความท้าทายด้านภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงมากมายรออยู่”

จัน ลูกา กาเลตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมอิตาลี กล่าวเสริมว่า “นี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของประเทศอิตาลี ศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในเมืองโบโลญญาจะเอื้อให้ ECMWF สานต่อภารกิจสำคัญด้านการศึกษาปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศเพื่อเป็นข้อมูลประกอบเชิงยุทธศาสตร์สำหรับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอันยั่งยืนและความมั่นคงของพลเมือง ปัจจุบัน เมืองโบโลญญาเป็นศูนย์กลางของความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งสถานภาพดังกล่าวจะช่วยเพิ่มทักษะและความสามารถในการคิดค้นข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองโบโลญญาอันน่าสนใจได้ลึกถึงแก่น ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลจากความร่วมแรงร่วมใจขององค์กรอิตาลีมากมายหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสิ่งแวดล้อม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง, ประธานาธิบดีสเตฟาโน โบนาซซินี แห่งแคว้นเอมิเลีย โรมัญญา, นายกเทศมนตรีวีร์จินิโอ เมโรลา แห่งเทศบาลนครโบโลญญา และอธิการบดีฟรานเชสโก อูแบร์ตินี แห่งมหาวิทยาลัยอัลมา มาแตร์ กระผมใคร่ขอขอบพระคุณ ดร. ฟลอเรนซ์ เรเบียร์ ผู้อำนวยการ ECMWF และศาสตราจารย์มิเกล มิแรนด้า ประธานคณะกรรมการ ECMWF รวมถึงเพื่อนสมาชิกทุกประเทศ เมืองโบโลญญาจะสานต่อพันธกิจนี้อย่างสุดความสามารถ”

อนึ่ง ยุทธศาสตร์สิบปีของ ECMWF ที่นำมาบังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 2559 นั้น ได้ตั้งเป้าสำหรับการสร้างแบบจำลองของโลกทั้งระบบด้วยความละเอียดสูง โดยกำหนดเป้าหมายระยะห่างของพื้นที่ขนาด 5 กิโลเมตรสำหรับการพยากรณ์ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568 จากระยะห่างของพื้นที่ขนาด 18 กิโลเมตรในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มความละเอียดของพื้นที่ให้ได้ถึงระดับ 9 กิโลเมตรภายในปี 2563 – 2564 ซึ่งการพัฒนาความละเอียดดังกล่าวต้องใช้เครื่องประมวลผลประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการคำนวณเหนือกว่าเครื่องรุ่นที่ ECMWF ใช้อยู่ขณะนี้ประมาณ 10 เท่า โดยบางส่วนจะมาจากเครื่องประมวลผลที่จัดหามาเพิ่มเติม ซึ่งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในเมืองโบโลญญานี้จะเอื้อให้ ECMWF ใช้งานเทคโนโลยีด้านการคำนวณระดับสูงรุ่นใหม่ล่าสุดได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

ศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (ECMWF) เป็นองค์กรอิสระระหว่างรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ 34 ประเทศ โดยก่อตั้งขึ้นในปี 2518 ภารกิจหลักของ ECMWF คือการผลิตข้อมูลพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข ดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคเพื่อพัฒนาทักษะ รวมถึงรักษาคลังข้อมูลอุตุนิยมวิทยา

ที่มา: ศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (ECMWF)