CAT เดินหน้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางดิจิทัลของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

0
322
image_pdfimage_printPrint

CAT ร่วมเสวนาการลงทุนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Investment Forum) ประกาศความพร้อมสู่ยุค Thailand 4.0 เสริมโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล สร้างโอกาสการเข้าถึงระบบเครือข่ายอย่างทั่วถึง
ในงานเสวนาการลงทุนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ The Greater Mekong Investment Forum 2017 จัดโดย Euromoney Asia ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาในหัวข้อการก้าวสู่ยุคดิจิทัลและการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Digitalisation and E-commerce Boom in the GMS)
“กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงหรือ GMS มีการขยายตัวทางด้านการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลกในปัจจุบัน มีความต้องการในเรื่องของระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่สามารถรองรับการเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งอัตราการเติบโตของประชากรในเจเนอเรชั่น เอกซ์ และวายในสังคมที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มคนมีกำลังซื้อ และมีความรู้/การเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดี ทำให้การค้าออนไลน์ เป็นการค้าแบบไม่มีขอบเขตหรือพรมแดน เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจมีความตื่นตัวในการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้สามารถเชื่อมโยงธุรกิจของตนสู่ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว” ดร.ดนันท์ กล่าว
“ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 คือ การมุ่งเน้นสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเชื่อมโยงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จะสามารถเข้าถึงส่วนต่างๆของกระบวนการทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างมูลค่าและเพิ่มผลผลิตในธุรกิจและอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการดังกล่าว รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อลดช่องว่างและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางดิจิทัลอย่างเท่าเทียม ซึ่งภาครัฐได้เร่งรัดดำเนินการให้มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ทั่วประเทศ จากโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน”
ทั้งนี้ ดร.ดนันท์ เปิดเผยว่า “CAT เป็นผู้ให้บริการระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลและอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงทั้งภายในและระหว่างประเทศ มุ่งพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงพัฒนาโครงข่ายร่วมให้บริการ (Network-to-Network) ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพม่า, ลาว, กัมพูชา ซึ่งประเทศไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเป็นศูนย์กลางทั้งการค้า/การลงทุน และโครงข่ายเชื่อมโยงที่สะดวกต่อการเชื่อมโยงไปยังทั่วโลก โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
“นอกจากนี้ CAT ยังได้ร่วมกับภาครัฐในโครงการต่างๆ อาทิ การพัฒนา Smart City โดยมีพื้นที่นำร่องในจังหวัด ภูเก็ต, เชียงใหม่ และขอนแก่น ให้สามารถเชื่อมโยงประชาชน ด้วยเทคโนโลยี IoT เข้ากับการให้บริการทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้มีการเติบโตอย่างชัดเจนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว”
การพัฒนาเมกะโปรเจคในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) อย่าง Digital Park Thailand ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการวิจัย/พัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย โดยโครงการจะมีการลงทุนร่วมกันทั้งผู้ลงทุนในประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งจากภาครัฐ (G2G) และภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้เกิดการแชร์ประสบการณ์โดยผู้คิดค้นนวัตกรรมดิจิทัลจากทั่วโลก ซึ่ง CAT จะเป็นผู้วางระบบสื่อสารโทรคมนาคมภายในพื้นที่เชื่อมโยงไปยังทั้งภายในและต่างประเทศได้ทั่วโลก
“อย่างไรก็ตาม ในการเข้าสู่ยุคดิจิทัลนั้นอาจทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการโจมตีในโลกไซเบอร์ ซึ่งผู้ใช้งานยังคงมีความกังวลต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว โดย CAT ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการใช้งานบนระบบเครือข่าย โดยเฉพาะยิ่งการใช้บริการบนเครือข่ายสาธารณะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ต่อการเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์นำไปสู่การเป็นสังคมดิจิทัล รองรับความเป็นยุค Thailand 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์” ดร.ดนันท์กล่าว