เทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้ถูกพัฒนาให้มีความใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ในโรงพยาบาลหรือสถานประกอบการต่างๆ ได้มีการใช้เทคโนโลยีชนิดนี้อย่างแพร่หลาย ทั้งด้านการแพทย์การศึกษาวิจัย อุตสาหกรรมและด้านการเกษตร โดยหลังจากพระราชบัญญัติ พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ เริ่มมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในฐานะหน่วยงานด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ จึงได้ร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการพัฒนาประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยมุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า “การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฯ ในครั้งนี้จะนำมาซึ่งความร่วมมือในการดำเนินงานด้านวิชาการและการบริการต่างๆ อาทิ การเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมระงับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี มาตรการวิทยาทางรังสี การรับรองผลการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยเครื่องกำเนิดรังสี การจัดการกากกัมมันตรังสี การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการพัฒนาบุคลากรด้านนิวเคลียร์และรังสี ด้านความปลอดภัยสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ รวมทั้งจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ การวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และการประยุกต์ใช้ในเชิงสันติ ตลอดจนเทคโนโลยีสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และงานบริการ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต อีกทั้งจะยังสนับสนุนทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และความร่วมมือในการใช้ประโยชน์และการแลกเปลี่ยนข้อมูลของทั้งสองหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานส่วนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า “นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ระหว่าง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เกิดขึ้นในวันนี้ เพราะในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์นั้น จำเป็นจะต้องมีการบูรณาการความร่วมมือเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสี ที่มุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม การลงนามครั้งนี้ ได้ครอบคลุมถึงการตรวจสอบคุณภาพเครื่องกำเนิดรังสี การตรวจสอบความปลอดภัยในการควบคุมปริมาณรังสีที่ใช้ทางการแพทย์ เพื่อให้คุณภาพเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยของประเทศไทยมีมาตรฐานที่สอดคล้องกับสากล ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบคุณภาพเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัย เป็นการเพิ่มช่องทางให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ โรงพยาบาล และสถานประกอบการอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต”
“จุดเด่นของบริการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยโดย สทน. นั้นจะเน้นที่การให้บริการที่รวดเร็ว ฉับไว โดยใช้เวลาในกระบวนการตรวจสอบรวมและออกใบรับรองมาตรฐานการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ สามารถเข้าทำการตรวจนอกเวลาทำการได้ โดยเรามีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกทั้งในด้านการนัดหมาย และการบริการอื่นๆ”
รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร.๐๖๑ ๓๘๕ ๒๓๒๘
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ดอท พีอาร์ จำกัด
ปัฏ ปรีชาพานิช (แกะ) โทร.๐๘๖ ๓๔๙ ๒๔๓๖
จิระภัทร์ หอมสนิท (ซี) โทร.๐๘๕ ๗๙๖ ๐๙๗๖