SACICT หนุนหัตถกรรมไทย ขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ดึงจุดแข็งต่อยอดนวัตกรรม Cross Innovation ผสานเครือข่ายภาครัฐ ภาคการผลิตเทคโนโลยี

0
319
image_pdfimage_printPrint

งานศิลปหัตถกรรมถือเป็นมรดกล้ำค่าทางภูมิปัญญาและเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความเป็นไทย แต่การจะพัฒนาหัตถกรรมไทยให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผสานความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคการผลิต และเทคโนโลยี ที่มีความเชี่ยวชาญและโดดเด่นในด้านต่างๆ เพื่อตอบรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์กรมหาชน) จึงได้จัดการอภิปรายเชิงวิชาการ “Cross Innovation Symposium” เพื่อเป็นกิจกรรมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการต่อยอดจุดแข็งของงานหัตถกรรมให้นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาหัตถกรรมไทยสู่สากล พรรณวิลาส แพพ่วง ผู้จัดการสายงานพัฒนาการตลาด ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาหัตถกรรมไทยเพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ต้องอาศัยความร่วมมือ โดยผสานจุดแข็งและความเชี่ยวชาญจากเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ 1.Cross Policy การผสานกับเครือข่ายองค์กรภาครัฐเพื่อร่วมมือส่งเสริมให้งานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จัก โดยใช้ความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน เป็นสื่อกลางถ่ายทอดเรื่องราวของงานหัตกรรม นำจุดแข็งความเป็นไทยมาหนุนเสริมการทำงานกันและกัน

ส่วนที่ 2.Cross Sector การผสานกับเครือข่ายผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆเพื่อต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานหัตถกรรม เพราะการทำธุรกิจในโลกยุคนี้จะไม่สามารถแข่งขันได้ หากไม่มีนวัตกรรมสร้างสรรรค์และผสมผสานการทำงานที่มีความแปลกใหม่ ดังนั้น คนรุ่นใหม่จึงต้องเปลี่ยนมุมมองไปจากการทำธุรกิจในแบบเดิม

ส่วนที่ 3. Cross Technology การผสานความร่วมมือกับเครือข่ายที่มีความโดดเด่นและเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้หัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ บนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับวิถีโลก

หนึ่งในตัวอย่างความร่วมมือแบบ Cross Policy ระหว่างเครือข่ายภาครัฐที่หนุนเสริมกันได้อย่างแข็งแกร่ง คือ การส่งเสริมงานหัตถกรรมกับการท่องเที่ยว“วิถีไทย” ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับประเทศ

แสงจันทร์ แก้วประทุมรัศมี รักษาการผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า งานหัตถกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีไทยที่มีคุณค่า สามารถสร้างความประทับใจ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่ได้มาพบเห็นอยากเดินทางไปท่องเที่ยวตามรอยแหล่งผลิต สัมผัสภูมิปัญญาพื้นบ้าน นอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังสร้างชื่อเสียงให้ศิลปวัฒนธรรมไทยได้รับการยอมรับทั่วโลก

“ ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านทอผ้าไทยในจ.สุรินทร์ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ชื่นชอบในงานศิลปะไทย เดินทางมาโดยตรงเพื่อสั่งผ้าทอผืนหนึ่งราคา 3-4 แสนบาทขึ้นไป โดยวางแผนกลับมาท่องเที่ยวและรับสินค้าในปีถัดไป บางรายยังต่อยอดทำธุรกิจนำเข้าส่งออก ส่งผลให้เกิดการสร้างและกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง”

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งมุมมองตัวแทนเครือข่าย Cross Policy ภาครัฐ นิธิรุจน์ โผนประเสริฐ ผู้อำนวยการกองสนเทศเศรษฐกิจ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ ร่วมถ่ายทอดถึงการดำเนินงานของกระทรวงต่างประเทศที่ผ่านมาว่า งานหัตถกรรมไทยสามารถเดินคู่ไปการทูตเชิงวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยหนุนเสริมกันและกัน ตัวอย่างเช่น การจัดงานเทศกาลไทยเพื่อส่งเสริมให้ประเทศต่างๆได้รู้จักวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ซึ่งสินค้าหัตถกรรมไทยเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ไทยที่ได้นำไปจัดแสดงเป็นประจำทุกปี จนได้รับการยอมรับในต่างประเทศ

ขณะที่ตัวแทนผู้บริหารจากภาคการผลิต ชัย นิมากร ประธานกรรมการอำนวยการ บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด แลกเปลี่ยนมุมมองถึงความร่วมมือในรูปแบบ Cross Sector โดยยกตัวอย่างการนำความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มาเป็นสร้างสรรค์การออกแบบสินค้ารุ่น“ศักดิ์ศรีปฐพีไทย” และการนำแรงบันดาลใจจากชุดเสื้อเกราะนักรบโบราณของไทยมาดีไซน์ประยุกต์ให้เข้ากับเสื้อผ้ากีฬา โดยผู้บริหารแกรนด์สปอร์ต มองว่า ยังมีโอกาสอีกมากที่สินค้าไทยจะเติบโตไปพร้อมกับกระแสโลกในด้านการกีฬา ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมโยงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยกับกีฬามวยไทยซึ่งเป็นที่รู้จักชื่นชอบของทั่วโลก การใช้ซูเปอร์สตาร์นักกีฬาไทยเป็นทูตช่วยเผยแพร่สินค้าไทยให้กับแฟนคลับทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

ปิดท้ายด้วยมุมมองด้าน Cross Technology โดย จุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ Founder & CEO : WAZZADU.com แพลตฟอร์มสำหรับการทำตลาด และซื้อขายด้านวัสดุและตกแต่งผ่านออนไลน์ ซึ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของการทำธุรกิจด้วยเทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนหัตถกรรมไทยไปสู่ระดับโลก โดยคำนึงถึงองค์ประกอบ 3C ได้แก่ C-Content การสร้างสรรค์เนื้อหาเล่าเรื่องราวของสินค้าผ่านกลยุทธ์ Storytelling ดึงดูดด้วยภาพถ่ายและเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างมีความต่อเนื่อง , C-Create การสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจและวิธีการเข้าถึงตลาดด้วยเทคนิคใหม่ๆ และ C-Community การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน จับมือร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ในการโปรโมทสินค้าไทยไปสู่สากล

“ วัสดุดอทคอมเป็นคอมมูนิตี้ออนไลน์ที่รวบรวมสินค้าวัสดุและของตกแต่งกว่า 3 หมื่นรายการ 400 กว่าแบรนด์ชั้นนำ สิ่งที่เราภูมิใจคือการเป็นสื่อกลางออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงลูกค้าในต่างประเทศกับผู้ผลิตผลงานหัตถกรรมโดยตรง ช่วยลดขั้นตอนคนกลาง โดยใช้เทคโนโลยีในการเข้ามาเติมเต็มโอกาสธุรกิจ วันนี้ ประเทศไทยเราจึงต้องไม่เป็นเพียงผู้ที่เสพเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ต้องมาร่วมมือกันดึงจุดแข็งของงานหัตถกรรม มาต่อยอดกับนวัตกรรมในการทำธุรกิจ เพราะโอกาสในตลาดโลกรอเราอยู่”

วันนี้ หัตถกรรมไทยกับการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 จึงไม่ใช่เรื่องไกลกัน แต่ต้องเดินไปด้วยกัน โดยการต่อยอดหัตถกรรมด้วยนวัตกรรม Cross Innovation ผสานเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคการผลิต เทคโนโลยี นำจุดแข็งความเป็นไทยมาเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาอย่างมั่งคั่ง และยั่งยืน