ผู้ชนะโครงการ Water Window Challenge คว้าเงินรางวัลรวม 10 ล้านดอลลาร์สำหรับสานต่อโครงการแก้ปัญหาอุทกภัย

0
245
image_pdfimage_printPrint

สุดยอดผู้สร้างสรรค์ผลงาน 12 ทีมจะได้รับเงินรางวัลรวมกันทั้งสิ้น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ต่อยอดโซลูชั่นแก้ปัญหาน้ำท่วมในชุมชนต่างๆ ทั่วโลก

Global Resilience Partnership (GRP) จับมือ Z Zurich Foundation ในเครือ Zurich Insurance มอบเงินรางวัลสูงสุด 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับทีมผู้ชนะแต่ละทีมที่นำเสนอโซลูชั่นสุดล้ำในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในกลุ่มประเทศซาเฮล แหลมแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลงานที่ส่งเข้าประกวดเกือบ 400 โครงการ ได้ถูกคัดเลือกเหลือเพียง 12 โครงการสุดท้ายที่มีศักยภาพโดดเด่นมากที่สุด

ทีมที่ชนะการประกวดมาจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแหลมแอฟริกา โดยทีมเหล่านี้มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมในอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล เคนยา เอธิโอเปีย และโซมาเลีย ด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่การสร้างถนนต้านน้ำท่วม บ้านสะเทินน้ำสะเทินบก ไปจนถึงแนวป้องกันชายฝั่งสีเขียว

Z Zurich Foundation ได้สนับสนุนเงินรางวัลรวม 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับทีมผู้ชนะ เพื่อให้สามารถสานต่อโครงการได้อย่างรวดเร็ว จะได้ทราบว่าโซลูชั่นเหล่านั้นได้ผลหรือไม่

ผลงานที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงจะได้รับการพิจารณาให้ขยายขนาดของโครงการต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประสบภัยในอีกหลายชุมชนทั่วโลก

ผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดมาจากหลากหลายภาคส่วน รวมถึงสถาบันทางวิชาการและองค์กรต่างๆ โดยทุกทีมต่างทุ่มเทประสบการณ์และภูมิปัญญาพื้นบ้านในการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

David Nash ผู้จัดการมูลนิธิ Z Zurich Foundation กล่าวว่า “ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เราได้เริ่มช่วยเหลือชุมชนให้สามารถรับมือกับปัญหาอุทกภัยผ่านโครงการ Flood Resilience Program ซึ่งผสานความเชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงในธุรกิจประกันเข้ากับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน”

“ปัจจุบัน 87% ของเงินช่วยเหลือด้านภัยพิบัติถูกนำไปใช้เพื่อการเยียวยาและการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ แต่เราอยากให้มีการนำเงินไปใช้ป้องกันก่อนเกิดเหตุมากกว่า และโครงการ Water Window Challenge ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของแนวคิดนี้ โดยเป็นการคิดค้นวิธีใหม่ๆ เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ชุมชนต่างๆ สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ”

Luca Alinovi กรรมการบริหารของ Global Resilience Partnership กล่าวว่า “อุทกภัยคือภัยธรรมชาติที่อันตรายมากที่สุด โดยคิดเป็น 47% ของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งหมด อุทกภัยสร้างความเสียหายมากกว่าภัยพิบัติอื่นใดในโลกนี้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และมนุษย์เป็นวงกว้าง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูงถึง 2.3 พันล้านคน โดย 95% ของทั้งหมดอาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า เราต้องรีบเปลี่ยนวิธีการรับมือกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน”

“หลังจากเกิดอุทกภัย การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็จะหลั่งไหลเข้ามา ทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ก่อนที่จะเกิดอุทกภัยขึ้นอีก วัฏจักรนี้จึงไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน”

“GRP เชื่อว่าวิธีการรับมือที่ยืดหยุ่นคือหนทางที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากเราไม่ได้มองแค่การช่วยเหลือผู้คนหลังเกิดภัยพิบัติเท่านั้น แต่ยังพยายามหาวิธีพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วย”

“ด้วยโครงการนี้ เราจึงสามารถขับเคลื่อนชุมชนผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยชั้นนำทั่วโลก ให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานเดิมๆ เพื่อประโยชน์ของผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก”

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Stephanie Speck, director of Communications, Global Resilience Partnership
sspeck@globalresiliencepartnership.org / +254-737-547-731

Phoebe Tronzo, Account Executive, Edelman
Phoebe.Tronzo@edelman.com / +44-203-047-2196

ที่มา: Global Resilience Partnership (GRP)