เชฟโรเลต ประเทศไทย รุกตลาดรถเอนกประสงค์เต็มสูบ

0
630
image_pdfimage_printPrint

เชฟโรเลต ประเทศไทย รุกตลาดรถเอนกประสงค์เต็มสูบ

เปิดตัว เทรลเบลเซอร์ ครั้งแรกในโลก

 

 

 

 

 

กรุงเทพฯ – เชฟโรเลต เดินหน้ารุกตลาดรถเอนกประสงค์เต็มสูบ ประกาศเปิดตัว เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ รุ่นใหม่ล่าสุดเป็นครั้งแรกในโลกที่ประเทศไทย ก่อนเผยโฉมสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 33

 [nggallery id=10]

รถต้นแบบเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ได้รับการเผยโฉมที่งานดูไบ อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ในภูมิภาคตะวันออกกลางเมื่อปลายปีที่ผานมา โดยเชฟโรเลต เตรียมจำหน่ายเทรลเบลเซอร์ ใน 60 ประเทศทั่วโลก เริ่มต้นจากประเทศไทยในเดือนมิถุนายนนี้ นับเป็นการบุกตลาดรถเอนกประสงค์ (เซกเมนท์ เอสยูวี-ดี SUV-D) ครั้งสำคัญของเชฟโรเลต ประเทศไทย

 

เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ได้รับการพัฒนาบนพื้นฐานโครงสร้างรถกระบะขนาดกลาง มาพร้อมกับความสะดวกสบายและความมั่นใจในการขับขี่ สมรรถนะที่รองรับทุกรูปแบบการใช้งาน ทั้งการเดินทางในเมือง การใช้ความเร็วบนถนนหลวง และบนเส้นทางถนนลูกรังออฟโรด

 

พื้นที่ภายในห้องโดยสารของเทรลเบลเซอร์มีความกว้างขวางที่สุดในรถระดับเดียวกัน รองรับผู้โดยสารด้วยเบาะ 3 แถว ซึ่งสามารถพับให้แบนราบได้เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระ ทำให้เทรลเบลเซอร์ มีความโดดเด่นที่สุดในตลาดรถเอสยูวีขนาดกลาง

 

ถ่ายกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนสองล้อ และสี่ล้อด้วยขุมพลังเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ ดีเซลเทอร์โบ อันเลื่องชื่อของจีเอ็ม เต็มเปี่ยมด้วยพละกำลัง ความประหยัดที่เหนือกว่า แรงบิดอันเหนือชั้น และความสะดวกสบายในทุกรูปแบบการขับขี่

 

มร.มาร์ติน แอพเฟล ประธานกรรมการ ประจำประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปิดตัวเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ซึ่งผลิตโดยศูนย์การผลิตยานยนต์จีเอ็ม ประเทศไทย ในจังหวัดระยองนั้นจะยกระดับศักยภาพของเชฟโรเลต ในการบุกตลาดรถเอนกประสงค์เอสยูวีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก

 

“เพียงชื่อรุ่น เทรลเบลเซอร์ ก็สามารถสะท้อนตัวตนของรถรุ่นนี้ที่จะบุกเบิกเส้นทางใหม่ในตลาดรถเอสยูวีได้เป็นอย่างดี เทรลเบลเซอร์ ได้รับการพัฒนาบนโครงสร้างที่แข็งแกร่งที่สุด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทุกรูปแบบของลูกค้า ที่ประสงค์จะใช้เอสยูวีที่หรูหราและทนทาน” มร.แอพเฟล กล่าว

 

“เทรลเบลเซอร์ ถูกออกแบบเพื่อการเดินทางทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการขับตะลุยบนเส้นทางออฟโรดสมบุกสมบัน ขับฝ่าการจราจรคับคั่ง หรือขับด้วยความเร็วบนถนนไฮเวย์” มร.แอพเฟล กล่าวเพิ่มเติม “เราเชื่อมั่นว่าเทรลเบลเซอร์ จะได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ไม่เพียงจากลูกค้าในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น หากรวมถึงลูกค้าในทุกประเทศทั่วโลกที่เทรลเบลเซอร์ จะออกจำหน่าย”
เทรลเบลเซอร์ ได้รับการพัฒนาพร้อมกับรถกระบะขนาดกลางรุ่นใหม่อย่างเชฟโรเลต โคโลราโด โดยฝีมือทีมวิศวกรชั้นนำของจีเอ็ม บราซิล ซึ่งใช้ความเชี่ยวชาญขั้นสูงในการสร้างสรรค์รถเอนกประสงค์บนโครงสร้างรถกระบะ
ระหว่างขั้นตอนการพัฒนาเทรลเบลเซอร์ และโคโลราโด ทีมวิศวกรของจีเอ็มได้เดินทางมาอาศัยในประเทศไทย เพื่อศึกษาตลาดรถเอนกประสงค์ และรถกระบะที่มีการแข่งขันกันสูงมากในประเทศไทย พร้อมกับการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการใช้รถและรูปแบบการขับขี่ของคนไทย ซึ่งข้อมูลที่ได้รับนั้น นำไปสู่การพัฒนา    เทรลเบลเซอร์ โดยแบ่งออกเป็นสองรุ่นย่อย คือรุ่นกลาง LT และรุ่นสูงสุด LTZ

 

ขุมพลังเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง

 

เทรลเบลเซอร์ ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังดูราแม็กซ์ ดีเซลเทอร์โบรุ่นใหม่ล่าสุดของจีเอ็ม ขนาด 4 สูบ ความจุ 2.5 ลิตร และ 2.8 ลิตร เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่เหนือชั้น ผสมผสานพละกำลัง สมรรถนะ และความประหยัดได้อย่างลงตัว

 

สำหรับเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ให้พละกำลังและความประหยัดสูงสุดในทุกรอบเครื่องยนต์ด้วยเทอร์โบแปรผัน พร้อมให้ความนุ่มนวลยิ่งขึ้นด้วยเพลาถ่วงสมดุล ทั้งนี้ ทั้งสองเครื่องยนต์ได้รับการออกแบบให้มีความทนทาน รองรับทุกการใช้งาน และมีค่าดูแลรักษาต่ำกว่า โดยออกแบบพัฒนามาให้มีความทนทานใช้งานได้กว่า 240,000 กิโลเมตร

 

ระบบส่งกำลังมีให้เลือก 2 รูปแบบ คือเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และอัตโนมัติ 6 สปีดควบคุมด้วยอิเลกทรอนิคส์

 

ขุมพลัง 2.8 ลิตรให้พละกำลังสูงสุด 180 แรงม้า (132 กิโลวัตต์) และแรงบิด 470 นิวตันเมตร (346 ฟุตปอนด์) สำหรับเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด และแรงบิด 440 นิวตันเมตร (324 ฟุตปอนด์) สำหรับเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ขณะที่ขุมพลัง 2.5 ลิตร มีพละกำลังสูงสุด 150 แรงม้า (110 กิโลวัตต์) แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร (258 ฟุตปอนด์)

 

การควบคุมและสมรรถนะการขับขี่

 

ด้วยโครงสร้างวิศวกรรมแบบตัวถังบนแชสซีส์ (body-on-frame) เทรลเบลเซอร์ พร้อมโลดแล่นทุกเส้นทางทั้งบนถนนธรรมดา และเส้นทางออฟโรด ระบบกันสะเทือนด้านหลังแบบอิสระ 5 ลิงค์ เหนือชั้นกว่ารถในระดับเดียวกัน และยกระดับมาตรฐานรถเอนกประสงค์ไปอีกขั้น ขณะที่คอยล์สปริงที่ติดตั้งอยู่ที่ล้อทั้งสี่เพิ่มความนุ่มนวล และดูดซับแรงกระแทกได้ดีกว่า โดยเฉพาะบนทางออฟโรด และการขับขี่บนถนนทั่วไปที่สะดวกสบายเหมือนกับรถยนต์นั่ง

 

“เป้าหมายของเราในการพัฒนาเทรลเบลเซอร์ คือ การสร้างรถเอนกประสงค์ที่มีสมรรถนะการขับขี่ที่ดีเยี่ยม เหนือกว่ารถเอนกประสงค์ในตลาด” มร.แบรด เมอร์เคล ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์รถกระบะ และรถเอนกประสงค์ จีเอ็ม โกลเบิล กล่าว “เทรลเบลเซอร์ รองรับการขับขี่และความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งสมรรถนะในแบบรถยนต์นั่ง ความหรูหราระดับรถพรีเมียม และสมรรถนะในการลุยเส้นทางออฟโรด ตามแต่ที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งทำให้เทรลเบลเซอร์ เป็นรถเอสยูวีที่สมบูรณ์พร้อมที่สุด”

 

ระบบความปลอดภัย

 

เทรลเบลเซอร์ เพียบพร้อมด้วยระบบความปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุทุกสถานการณ์ ซึ่งประกอบด้วย

  • ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (Electronic Stability Control)
  • ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (Anti-lock Braking System)
  • ระบบช่วยเบรกไฮโดรลิก (Hydraulic Brake Assist)
  • ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและป้องกันการลื่นไถล (Traction Control)
  • ระบบกระจายสัดส่วนแรงเบรก ครั้งแรกในรถระดับนี้ (Dynamic Rear Brake Proportioning)
  • ระบบกระจายแรงเบรกอิเลกทรอนิคส์ (Electronic Brake-force Distribution)
  • ระบบช่วยเบรกกระทันหัน (Panic Brake Assist)
  • ระบบควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์ป้องกันการลื่นไถล (Engine Drag Control)
  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ เมื่อลงทางลาดชัน (Hill Descent Control)
  • ระบบป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางชัน (Hill Start Assist)
  • ถุงลมนิรภัย SRS ด้านคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า (Driver and Occupant Air Bag Protection)

 

 

การออกแบบภายนอก – รูปลักษณ์บึกบึนแข็งแกร่ง

 

รูปลักษณ์ภายนอกอันสะดุดตาของเทรลเบลเซอร์ สร้างสรรค์โดยศูนย์การออกแบบของจีเอ็ม ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเซาไกตานูดูซูล ประเทศบราซิล โดยได้รับการถ่ายทอดดีเอ็นเอการออกแบบของ      เชฟโรเลตในระดับโลก เช่นเดียวกับโคโลราโด
ดีไซน์ภายนอกใช้แนวคิด “ตัวถังอันปราดเปรียวบนฐานล้อกว้าง” (body in-wheels out) ซึ่งเอื้อต่อการขับขึ้นหรือลงเนินลาดชันสูง ฝากระโปรงหน้าเน้นให้ดูบึกบึน มีสันคม ทำให้เทรลเบลเซอร์ เต็มเปี่ยมด้วยความแข็งแกร่งสไตล์รถเอนกประสงค์  กรอบไฟหน้าโปรเจคเตอร์ อยู่ในตำแหน่งด้านล่างแนบชิดฝากระโปรง เพิ่มความดุดันให้แก่ด้านหน้ารถอย่างชัดเจน

กระจังหน้าสองชั้น ดูอัลพอร์ท เอกลักษณ์ของเชฟโรเลต ถูกออกแบบลวดลายกระจังให้เป็นแบบสามมิติ ดึงดูดสายตาในทุกมุมมอง ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยอลูมิเนียม ที่กันชนหน้า เส้นสายด้านข้าง ฝาประตูท้าย และราวหลังคา

 

“เราออกแบบเทรลเบลเซอร์ ให้สะท้อนความทรงพลังของสมรรถนะการขับขี่ ทั้งบนทางออฟโรด และบนถนนในเมืองในชีวิตประจำวัน” มร.แมต นูน ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ จีเอ็ม บราซิล กล่าว “เห็นได้ชัดเจนถึงเส้นสายมัดกล้ามความบึกบึนและความหรูหราในแบบรถเอสยูวีระดับพรีเมียม เทรลเบลเซอร์ ให้ความโฉบเฉี่ยว ปราดเปรียว พร้อมความประณีตที่จะดึงดูดให้ลูกค้ารู้สึกต้องการที่จะครอบครอง”

 

เทรลเบลเซอร์ มาพร้อมกับสีสันตัวถัง 7 สี คือสีขาว Summit White สีดำ Black Sapphire สีแดง Sizzle Red สีน้ำตาล Auburn Brown สีน้ำเงิน Blue Mountain สีเทา Royal Gray และสีเงิน Switchblade Silver

 

ภายในห้องโดยสาร กว้างขวาง ประณีต และปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับได้ทุกการใช้งาน

 

เอกลักษณ์ของเชฟโรเลตถูกถ่ายทอดสู่ห้องโดยสารเช่นกัน ด้วยความกว้างขวาง รองรับทุกการใช้งาน และการตกแต่งที่ประณีตในทุกมุมมอง แผงคอนโซลเน้นความกลมกลืน ด้วยสไตล์ดูอัลค็อกพิทเอกลักษณ์ของเชฟโรเลต เพียบพร้อมทั้งความหรูหรา ผสานกับความสมบุกสมบันในแบบรถเอนกประสงค์ที่รองรับทุกการใช้งาน ห้องโดยสารของเทรลเบลเซอร์ รองรับผู้โดยสารด้วยเบาะ 3 แถว 7 ที่นั่ง โดยสามารถพับเบาะทั้งสามแถวได้เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระ และมีพื้นที่บริเวณที่นั่งแถวที่สามมากที่สุดเมื่อเทียบกับรถระดับเดียวกัน

 

“เราออกแบบให้ทุกเบาะที่นั่งรองรับการใช้งานอย่างเป็นธรรมชาติและง่ายดาย ไม่จำเป็นจะต้องเปิดคู่มือเพื่อปรับเปลี่ยนพับเบาะแต่อย่างใด” มร.นูน กล่าว “เราตั้งใจดีไซน์ของเบาะแถวที่สามของเทรลเบลเซอร์เน้นให้ผู้โดยสารสามารถนั่งได้อย่างสบายตลอดการเดินทาง เมื่อประกอบกับความหรูหราของห้องโดยสาร       เทรลเบลเซอร์ จึงเป็นรถที่พร้อมใช้งานอย่างเอนกประสงค์อย่างแท้จริง”

 

 

รายละเอียดภายในห้องโดยสาร ยังประกอบด้วย

  • เบาะที่นั่งแถวที่สองพับแบบ 60/40 สามารถพับให้แบนราบได้ เพียงการดึงห่วงให้เบาะพับตามแรงดึงดูด และสามารถปรับเอนได้ 6 องศา พร้อมที่วางแขนและช่องวางแก้วน้ำ
  • เบาะที่นั่งแถวที่สามพับแบบ 50/50 สามารถพับให้แบนราบได้ พร้อมช่องเก็บของตรงกลาง
  • เบาะแถวหน้าสุดข้างคนขับ พับเอนหลังให้แบนราบได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระสูงสุด
  • รองรับการเชื่อมต่อบลูทูธ ยูเอสบี และ Auxiliary

 

การตกแต่งในห้องโดยสาร เน้นโทนสีที่ตัดกันอย่างลงตัว เบาะหนังสีอ่อน คอนโซลลายไม้สีเข้ม และโครเมียม ใช้วัสดุที่มีลายบนพื้นผิวเพิ่มความรู้สึกหรูหราทุกการสัมผัส ช่องเก็บของมากมายทั่วห้องโดยสาร ซึ่งรวมถึงช่องเก็บของมีค่าบริเวณคอนโซลกลาง และช่องเก็บของขนาดใหญ่สองช่องบริเวณคอนโซลหน้า

 

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.