วิศวกรรมศาสตร์ สจล.- เดลต้าฯ เปิดแล็บ จัดเสวนา “สตาร์ทอัพ 4.0 กับ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต”

0
440
image_pdfimage_printPrint

ท่ามกลางกระแสคลื่นแห่งการเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีใหม่ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และคลาวด์ IoT เข้ามามีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว Startup ในยุค 4.0 จะเป็นอย่างไร? จึงจะประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและขนส่งโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกะบัง (สจล.) ร่วมกับ บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หนึ่งในผู้นำอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมไอซีทีของโลก จัดงานแถลงเสวนา “สตาร์ทอัพ 4.0 กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” พร้อมเปิดห้องแล็บออโตเมชั่นอัจฉริยะ (Delta Industrial Automation Lab) เพื่อเป็นอีกแรงผลักดันการปฏิรูปการศึกษา เสริมสร้างการเรียนรู้ทักษะให้ต่อเนื่อง และบ่มเพาะสตาร์ทอัพ 4.0

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี (Assoc.Prof.Dr.Komsan Maleesee) คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า นโยบายและความร่วมมือประชารัฐในการพัฒนาไปสู่ยุค Industry 4.0 ต้องมีการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการนำองค์ความรู้ไปต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และเติมต่อ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) สู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 จากสถิติของซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา จะมีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นปีละ 8,000 -10,000 ราย สตาร์ทอัพเกิดจากการพบเจอปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือในธุรกิจอุตสาหกรรม มุ่งจะแก้ไขปัญหานั้นให้กับคนหมู่มาก หลายสตาร์ทอัพอาจเติบโตก้าวไปได้ไกลถึงในระดับโลก โดยสตาร์ทอัพต้องกล้าคิดกล้าลงทุนและลงมือทำ จากสถิติ 95 เปอร์เซ็นต์ของสตาร์ทอัพทั่วโลกล้มเหลว และมีสตาร์ทอัพ 5% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การเปิดแล็บออโตเมชั่นอัจฉริยะ (Delta Industrial Automation Lab) ณ คณะวิศวลาดกระบัง ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจาก บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมไอซีทีของโลก จะเป็นแหล่งบ่มเพาะ สตาร์ทอัพไทย ในอนาคตในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆที่แก้ปัญหาให้โลกดีขึ้น ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันบนเวทีอาเซียนและโลกได้ สู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0

มร.เซีย เชนเยน (Mr.Hsieh Shen-yen) ประธานบริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ “DELTA” กล่าวว่า เรากำลังก้าวไปสู่ภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ในการพัฒนาบุคลากรเพื่อความพร้อมเตรียมพร้อมของกำลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอใน ยุค Industry 4.0 นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการเรียนรู้เทคโนโลยีระบบออโตเมชั่น (Industrial Automation) อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง เดลต้าได้ส่งมอบอุปกรณ์ แล็บออโตเมชั่นอัจฉริยะ (Delta Industrial Automation Lab) เพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทักษะต่าง ๆ จากรุ่นสู่รุ่น ช่วยกระตุ้นให้การเรียนการสอนแข็งแกร่งทั้งวิชาการและการลงมือปฏิบัติจริง สร้างแรงบันดาลใจให้วิเคราะห์ คิดค้น สร้างสรรค์ความคิดในการแก้ปัญหา และก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลง และเกิดประโยชน์ รวมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นสตาร์ทอัพได้ต่อไป
ปัจจัยที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบผลสำเร็จในยุค 4.0 ได้แก่ 1.Disrupt สร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลก 2.Scalable ขยายตัวได้รวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว 3.ใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหา 4.ประสบการณ์และไอเดียที่แปลกใหม่ 5.มีแผนธุรกิจอย่างชัดเจน มีจุดขาย 6.มีทีมงานและเครือข่ายที่แข็งแกร่ง 7.แหล่งเงินทุน ปัจจุบันแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจ Start Up ในเมืองไทยมีให้เลือกหลากหลาย กองทุนต่าง ๆ 8.จังหวะเวลาเหมาะเจาะ ตัวอย่างเช่น Uber ธุรกิจให้บริการรับส่งคน ก็ได้ประโยชน์จากการเปิดตัวในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นกัน คนกำลังต้องการรายได้พิเศษ และตอบสนองการใช้ชีวิตที่เร่งรีบของคนเมือง

คุณเกษมสันต์ เครือธร (Mr.Kasemson Kreuatorn) ผู้จัดการภาคพื้นอาวุโสฝ่ายอินดรัสเทรียลออโตเมชั่น บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เทคโนโลยีระบบออโตเมชั่น หรือ Industrial Automation นับเป็นเทรนด์ของการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ความทันสมัย คุณภาพ ประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน ซึ่งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และดิจิตอล IoT สามารถเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์ และให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 1.เครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation Machine) 2.โรงงานอัตโนมัติ (Factory Automation) และ 3.กระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Process Automation) โดยทุกหน่วยของระบบการผลิต ติดตั้งระบบเครือข่ายและฝังเซนเซอร์เพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกันแบบ realtime เครื่องจักร หุ่นยนต์ ระบบ และโรงงาน เชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ Internet of Things (IoT) ช่วยให้สามารถแสดงผล ควบคุม บริหารจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อดีของเทคโนโลยีระบบออโตเมชั่น (Industrial Automation) สามารถช่วยเพิ่มคุณภาพและผลผลิต, ช่วยลดต้นทุน, รองรับงานหนัก งานทำซ้ำ งานเสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ หรืองานที่ต้องการความแม่นยำสูง ลดข้อผิดพลาด, ช่วยประหยัดพลังงาน เสริมศักยภาพและยกระดับอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ, สามารถผลิตในจำนวนน้อยตามความแตกต่างของผู้บริโภคแต่ละได้

ในแล็บออโตเมชั่น อัจฉริยะของคณะวิศวลาดกระบังนี้มีชุดอุปกรณ์การเรียนการสอนระบบออโตเมชั่น 4 อย่าง คือ 1.ชุดจำลองชุดขับมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับผ่านอีเธอร์เน็ตจำนวน 3 ชุด (Operator Panel หรือ HMI) 2.ชุดจำลองชุดขับมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับผ่านแคนบัสจำนวน 3 ชุด (PLC) 3.ชุดจำลองชุดขับมอเตอร์เซอร์โวผ่านแคนบัสจำนวน 3 ชุด (VFD/Servo) 4. ชุดจำลองชุดขับมอเตอร์เซอร์โวผ่านอีเธอร์เน็ตจำนวน 3 ชุด (Motor) สามารถนำอุปกรณ์ทั้งหมดมาเชื่อมโยงข้อมูลของภาพรวมระบบออโตเมชั่นที่สมบูรณ์

ผศ.ดร.ศรวัฒน์ ชิวปรีชา (Asst.Prof.Dr.Sorawat Chivapreecha) ประธานหลักสูตรวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรมาก่อนแต่เราไม่ค่อยมีนวัตกรรมด้านนี้จึงเป็นที่มาของ ฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Smart Farm โดยนำ Industrial Automation มาเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยให้การเกษตรซึ่งเป็นความมั่นคงของประเทศและภูมิภาคไม่สูญหายไป โดยลดการใช้แรงงานคน ลดงานหนักให้เป็นความสะดวกสบาย ยกระดับความสามารถของเกษตรกรรายย่อย ทำให้การทำงานในฟาร์มยุคใหม่ง่ายขึ้น Smart Farm เป็นโรงเรือนเพาะปลูกแบบปิดที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้คงที่ตามที่ตั้งไว้ได้ เหมาะสำหรับการปลูกพืชผักที่ต้องควบคุมสภาพอากาศอยู่ตลอดเวลา เช่น พืชผักไฮโดรโปนิกส์ แตงเมล่อน ทำให้พืชผลเจริญเติบโตและผลผลิตดี โครงสร้างประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ฮาร์ดแวร์ คือ เครื่องตรวจรับค่าพารามิเตอร์ (Sensing Node) ติดตั้งในบริเวณโรงเรือน เพื่อวัดค่าต่างๆ เช่น อุณหภูมิในอากาศ, ความชื้นในดิน ส่วนที่ 2 โมบายล์แอพพลิเคชั่น ออกแบบให้มีความสะดวกต่อการใช้งานทุกวัย สามารถควบคุมการทำงานอุปกรณ์ต่างๆในโรงเรือนได้ โดยจะมีการรายงานถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรือน เพื่อการตัดสินใจ ส่วนที่ 3 คอนโทรลเลอร์ ควบคุมหรือปรับระบบต่างๆในโรงเรือนทั้งระบบการควบคุมอัตโนมัติ หรือแบบ manual ได้จากระยะไกลทุกที่ทุกเวลา และยังปรับใช้กับการปศุสัตว์ก็ได้เช่นกัน