โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดโครงการ“เพท-ซีที สแกน”เพื่อผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดทีเซลล์และบีเซลล์ (โครงการต่อเนื่อง ปีที่ 2) โครงการบำเพ็ญพระกุศลเพื่อสืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธานอันแน่วแน่ในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีที่ทรงห่วงใยปัญหาสุขภาพด้านโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของปวงชนชาวไทย ด้วยพระกรุณาธิคุณที่ให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนชาวไทยในด้านการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคร้าย สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานระดับสากล ตลอดจนสนับสนุนพัฒนาบุคลากรและงานด้านการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาแนวทางการรักษาเพื่อให้มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด
แพทย์หญิงพรรณี ประดิษฐ์สุขถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โลหิตวิทยา และหัวหน้าโครงการบำเพ็ญพระกุศลในโครงการ เพท-ซีทีสแกน เพื่อผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เผยว่า “โครงการ เพท-ซีที สแกนเพื่อผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดทีเซลล์และบีเซลล์ (โครงการต่อเนื่องปีที่ 2) นี้ ดำเนินการต่อเนื่องมาจากโครงการบำเพ็ญพระกุศลในศาสตราจารย์ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์จัดโครงการบำเพ็ญพระกุศลในโอกาสวันคล้ายวันประสูติภายใต้ชื่อ “โครงการเพท-ซีที สแกน เพื่อผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดทีเซลล์” เมื่อปี พ.ศ.2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ ให้ได้มีโอกาสเข้ารับการตรวจด้วยเทคโนโลยีระดับสูงที่ทันสมัย เพื่อให้การประเมินระยะของโรคมีความถูกต้องและชัดเจนมากขึ้นสำหรับการวินิจฉัยระยะเริ่มต้นและการตรวจติดตามผลการรักษา โดยในปี พ.ศ.2559 นี้ ด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยจึงทรงพระกรุณาให้มีการดำเนินงานโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และยังได้ขยายโอกาสให้กับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรายใหม่ทั้งชนิดทีเซลล์และชนิดบีเซลล์ได้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเพท-ซีที สแกน โดยผู้ที่เข้าโครงการจะได้รับการตรวจด้วยเครื่องเพท-ซีทีสแกนตามขั้นตอนการรักษาตลอดโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อประเมินแนวทางการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย โดยหวังให้ผู้ป่วยมีอัตราการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีโรคสงบเป็นระยะเวลานาน รวมถึงผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยที่สุด อีกทั้งยังเป็นการรวบรวมข้อมูลของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการรักษาต่อไปในอนาคต”
“มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ เนื้องอกของระบบน้ำเหลืองในร่างกาย โดยในร่างกายของคนเรามีต่อมน้ำเหลืองอยู่ทั่วร่างกายประมาณ 600 – 700 ต่อม ซึ่งมีขนาดเล็กมากไม่สามารถคลำพบได้ในภาวะปกติ ทั้งนี้หากมีความผิดปกติที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น อาจสามารถคลำพบได้ในบางจุดที่อยู่ตื้นใกล้ผิวหนัง เช่น บริเวณข้างลำคอ รักแร้ และขาหนีบ โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จัดเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยของคนไทยและทั่วโลก ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะมีโอกาสหายขาดได้ และมีอัตราการรอดชีวิตอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 50 ในส่วนของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดทีเซลล์ซึ่งเป็นชนิดที่มีการดำเนินโรคที่รุนแรงรวดเร็วและไม่มียาที่ออกฤทธิ์จำเพาะดังเช่นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ แม้ว่าจะพบได้น้อยกว่าชนิดบีเซลล์ แต่ก็พบในแถบเอเชียมากกว่ายุโรปและอเมริกา จึงมีความจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลในประชากรชาวไทยรวมทั้งในเอเชีย
โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหากตรวจพบโรคได้เร็วรวมถึงมีการวินิจฉัยที่ดีก็จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น ซึ่งเพท-ซีทีสแกนเป็นการตรวจวินิจฉัยระยะของโรคด้วยเทคโนโลยีทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ทันสมัย เพทสแกนจะให้ข้อมูลความผิดปกติในระดับเมตาบอลิซึม ในขณะที่เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ ซีทีสแกน จะแสดงโครงสร้างทางกายวิภาค ทำให้สามารถบอกตำแหน่งของรอยโรคควบคู่กับระดับการแบ่งตัวของเซลล์เพิ่มความชัดเจนและความแม่นยำว่าก้อนต่อมน้ำเหลืองใดในร่างกายของผู้ป่วยมีการแบ่งของเซลล์รวดเร็วซึ่งบ่งบอกว่าน่าจะเป็นเซลล์ผิดปกติ เช่น เซลล์มะเร็ง และสามารถนำมาใช้ประเมินการตอบสนองหลังจบการรักษาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ การตรวจด้วยเครื่องเพท-ซีทีสแกนแต่ละครั้งมีราคาสูงประมาณ 40,000 บาท ซึ่งอาจจำเป็นต้องตรวจทั้งหมด 2-3 ครั้ง คือ ก่อนรักษา ระหว่างรักษา และหลังรักษาซึ่งผู้ป่วยที่เข้าโครงการนี้จะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการทำเพท-ซีทีสแกน”
สำหรับผู้ป่วยที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “เพท-ซีทีสแกน” เพื่อผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดทีเซลล์และบีเซลล์ (โครงการต่อเนื่อง ปีที่ 2) จะต้องเป็นประชาชนชาวไทย ที่มีอายุ 18 – 70 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดทีเซลล์หรือบีเซลล์ นอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin lymphoma) เป็นครั้งแรก และยังไม่เคยได้รับการรักษาใดๆ มาก่อน โดยรับเข้าร่วมโครงการชนิดละ 100 ราย ติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ที่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ หลักสี่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร 02-576-6847 และ 6859 ในวันและเวลาราชการ หรือ www.cccthai.org
ขอขอบพระคุณที่พิจารณาข่าวนี้
สำหรับสื่อมวลชน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
หน่วยงานประชาสัมพันธ์และการตลาด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ หลักสี่
54 ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทร. 02-576-6833 หรือ 02-576-6834