“เชฟรอน – คีนัน” ผนึก มทร. ล้านนา และสวทน. ตั้ง TVET Hub ภาคเหนือยกระดับทักษะแรงงาน

0
302
image_pdfimage_printPrint

J1DX6022

เชฟรอน – คีนัน ผนึก มทร. ล้านนา และ สวทน. เดินหน้ายกระดับองค์ความรู้พัฒนาทักษะนักเรียนนักศึกษาสายอาชีวะ จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub) ภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร ตอบโจทย์ความต้องการผู้ประกอบการภาคเอกชน ลุยเฟสแรกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อนขยายหลักสูตรป้อนกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในปีหน้า
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวถึง การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยตามนโยบาย “Thailand 4.0” ของรัฐบาล หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนอยู่ที่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพ ดังนั้นโจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การพัฒนาศักยภาพคนและผลิตแรงงานที่มีทักษะเทคโนโลยีขั้นสูง รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมที่หันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตมากขึ้น
โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรม ยังมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะวิชาชีพด้านอาชีวะศึกษาอีกกว่าแสนคน สวนทางกับระบบการผลิตบุคลากรในสายอาชีวะของไทยที่ยังมีปัญหาทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือทักษะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ
“การร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และพันธมิตรอย่างสถาบันคีนันแห่งเอเซีย จัดตั้ง TVET Hub จะช่วยเสริมสร้างทักษะของแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจได้มากขึ้น” ดร.กิติพงค์ กล่าวเสริม
ขณะที่ นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า จากนโยบายของเชฟรอนที่ให้ความสำคัญของการพัฒนา “พลังคน” อย่างยั่งยืน และเพื่อมีส่วนร่วมในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ผ่านการพัฒนาศักยภาพแรงงานวิชาชีพที่มีทักษะฝีมือและพื้นฐานด้านสะเต็ม (STEM) ที่สามารถต่อยอดกระบวนการคิด วิเคราะห์ ให้บุคลากรมีแนวคิดด้านนวัตกรรม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมยุคใหม่ และสามารถเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
ดังนั้น “โครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) และ สวทน. จัดตั้ง “ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ” ภาคเหนือ ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครูผู้สอนและเยาวชนที่มีความรู้และทักษะฝีมือตรงตามความต้องการภาคอุตสาหกรรม โดยช่วงปีแรกเป็นหลักสูตรพัฒนาศักยภาพแรงงานตอบสนองความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และในปีหน้าจะขยายหลักสูตรการพัฒนาทักษะป้อนอุตสาหกรรมท้องถิ่นมากขึ้น คือ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
นายอาทิตย์อธิบายเพิ่มเติมว่า แนวทางการดำเนินการของศูนย์จะมี 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) ภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน 2) มหาวิทยาลัยเป็นตัวขับเคลื่อน และ 3) ภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยจะขึ้นอยู่กับความพร้อมในแต่ละพื้นที่ สำหรับกรณีของภาคเหนือ ทางโครงการฯ มองว่ามทร.ล้านนามีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร สถานที่ อุปกรณ์ และมีความเข้าใจบริบทและสภาพสังคมอย่างแท้จริง จึงเป็นแกนนำสำคัญในการสานต่อโครงการและสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนได้
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า บทบาทของ TVET Hub ประจำภาคเหนือที่ มทร. ล้านนาบริหารจัดการ นอกจากการเป็นศูนย์กลางการประสานงานร่วมกับอุตสาหกรรม – โรงเรียนเครือข่ายและครู ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งฝึกฝนทักษะและอบรมบุคลากรของโรงเรียนเครือข่าย ขณะเดียวกันยังเป็น “ศูนย์กลางการวิจัย” ด้านกระบวนการเรียนการสอน คู่มือครู (courseware) เพื่อนำไปใช้สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียน
“จุดเด่นของ TVET Hub คือ การสร้างครูประจำศูนย์ที่ได้ผ่านการฝึกปฏิบัติจริงในโรงงาน เพื่อทดแทนครูในโรงเรียน ทำให้ครูในโรงเรียนได้มีโอกาสออกมาเรียนรู้และฝึกฝนในโรงงานได้ นอกจากนี้ศูนย์ยังเป็นเสมือน สเตชั่นที่มีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ตั้งแต่การเขียนแบบ จนถึงขึ้นรูปผลิต เพื่อให้นักเรียนหรือครูฝึกจะฝึกฝนได้จริง” อธิการบดี มทร.ล้านนากล่าว
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า สถาบันคีนันในฐานะผู้บริหารโครงการ Chevron Enjoy Science ซึ่งเป็นการผสานงานกับภาคี 4 ฝ่ายภาครัฐ เอกชน อุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา ทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งเล็งเห็นว่าปัญหาของภาคศึกษาอาชีวะไทย ซึ่งถือเป็นแหล่งสร้างแรงงานที่สำคัญ คือ การขาดครูที่เก่งมีประสบการณ์ อุปกรณ์ที่ทันสมัย รวมถึงความเชื่อมโยงกับสถานประกอบการ
ทั้งนี้ “ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ” จะช่วยสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งครู อุปกรณ์ และองค์ความรู้ ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและตรงกับความต้องการของสถานประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และการดำเนินการพัฒนา “คน” ตลอดการดำเนินงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ก็สามารถเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากความพร้อมของภาคีทั้ง 4 ฝ่าย ในการร่วมสนับสนุนดำเนินการต่างๆ ทั้งจัดอบรม จัดทำหลักสูตรที่ตอบโจทย์แต่ละภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น