เจาะใจ อาสาสมัครรักษ์เจ้าพระยา ณ ศูนย์มรดกเจ้าพระยา

0
419
image_pdfimage_printPrint

1.เยาวชนอาสาสมัครรักษ์เจ้าพระยา-ในชุมชนเทวราชกุญชร-Medium

ปิดเทอมภาคฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่วัยโจ๋ต่างรอคอยสำหรับความสนุกสนาน การท่องเที่ยวเดินทาง พักผ่อน บ้างทำงานอดิเรก ฝึกเล่นกีฬาที่ชื่นชอบ บ้างก็กลับไปเยี่ยมภูมิลำเนาเดิม แต่สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ 10 กว่าคน เขาเลือกมาเป็นอาสาสมัครรักษ์เจ้าพระยา ของศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยา ซึ่งตั้งอยู่ใต้สะพานพระราม 8 ในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) โดยทำหน้าที่จิตอาสาช่วยพี่ๆในกิจกรรมเรวบรวมข้อมูลและผยแพร่การเรียนรู้เกี่ยวกับแม่น้ำในการพัฒนาชุมชนสองฝั่งเจ้าพระยา หนุ่มสาวรุ่นใหม่เหล่านี้ได้สัมผัสประสบการณ์และเรียนรู้การฟื้นฟูแม่น้ำ สืบสานมรดกวัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน มาคุยกับสามหนุ่มสาววัยสดใสและเปี่ยมจิตอาสาเพื่อแม่น้ำที่เราทุกคนรัก
นัฐวุฒิ หนูพุ่ม หรือ กอล์ฟ หนุ่มน้อยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ช่วงปิดเทอมปีนี้สนุกและได้ความรู้ ผมมาเป็นอาสาสมัครรักษ์เจ้าพระยาเพราะเคยได้ฟังแนวคิดการฟื้นฟูและพัฒนาภูมิทัศน์แม่น้ำของอาจารย์รณฤทธิ์ ธนโกเศศ จึงอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมช่วยชุมชนอนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์วิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีชุมชนรวม 33 ชุมชน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ติดตามพี่ๆสถาปนิก นักประวัติศาสตร์ชุมชน ลงพื้นที่ชุมชนวัดเทวราชกุญชร ผมได้เรียนรู้การสำรวจและการเก็บข้อมูลการทำโบราณคดีชุมชนของทีมพี่ๆร่วมกับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบนิเวศน์อย่างแถวนี้เคยมีป่าต้นลำพู มีประวัติศาสตร์ มรดกชุมชนที่น่าสนใจ ความเชื่อ ศูนย์รวมกิจกรรม ชาติพันธ์ แม้แต่โทนสีของชุมชน ลักษณะต่างๆ ที่พบเจอในชุมชน หลายอย่างเราไม่สามารถสังเกตเอาเองได้ จึงสืบค้นจากเป็นคำบอกเล่า ภาพถ่าย หลักฐาน เอกสารต่างๆของคนในชุมชน ล้วนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการที่จะรวบรวมอัตลักษณ์ หรือ มรดกชุมชนนั้นๆ ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาบันทึกลงในแผนที่วัฒนธรรมชุมชนและการสืบสานมรดกวัฒนธรรมต่อไป ผมรู้สึกว่าชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาหลายแห่งเป็นเหมือนห้องสมุดใหญ่ ให้คนรุ่นหลังและคนภายนอกได้มาเรียนรู้เปิดประสบการณ์ ผมได้สัมผัสการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน และการทำงานกับทีมสถาปนิกรุ่นใหญ่ ในอนาคตผมอยากเห็นพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังคงสามารถดำรงวิถีชีวิตร่วมกับน้ำได้อย่างยั่งยืน พร้อมไปกับการพัฒนาให้ร่วมสมัย โดยที่คนในพื้นที่เองมีความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุข คนนอกก็มีความสุขและได้ชื่นชมแม่น้ำที่มีสุขภาพดีไปด้วยกันครับ
ธันยภร โภคารักษ์ หรือ เฟิร์น สาวนักศึกษาวัยใส คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 2 สจล. กล่าวว่า มาเป็นอาสาสมัครรักษ์เจ้าพระยา ของศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยาที่เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำและชุมชนริมฝั่ง เพราะรักแม่น้ำเช่นเดียวกับคนไทย ถึงแม้เราจะเป็นคนตัวเล็กๆคนหนึ่ง แต่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของเรา การลงพื้นที่ในครั้งแรกกับทีมสถาปนิกและทีมการมีส่วนร่วมลงไปสำรวจพื้นที่ชุมชนเทวราชกุญชร ได้ค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น บริเวณโรงเรียนวัดเทวราชกุญชรตรงนั้นเคยเป็นที่จอดรถรางดั้งเดิมของกรุงเทพมาก่อน ยังมีรางอยู่ใต้พื้นดิน ถือเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯที่คนรุ่นหลังไม่รู้จักกันแล้ว สิ่งที่ประทับใจคือคนหลายรุ่นในชุมชนได้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของชุมชน แสดงความคิดเห็นถึงการที่จะสืบสานอัตลักษณ์ของเขา เช่น จุดเด่นของฝีมือและบริการทำอาหารนอกสถานที่ซึ่งทำกันมาตั้งแต่รุ่นทวดปู่ย่าตายายกว่า 100 ปีจนถึงวันนี้มีถึง 16 รายในชุมชน รวมทั้งวัดและพิพิธภัณฑ์ที่งดงามล้วนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่า นอกจากนี้ยังได้รับรู้ถึงปัญหาภายในชุมชนด้วย เช่น บางชุมชนขาดพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนจะสามารถเข้ามาใช้ร่วมกันได้ ทำให้เรามีประสบการณ์เรียนรู้ถึงการทำงาน การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การปรึกษาหารือกันในแต่ละฝ่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ทุกๆฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกัน ต้องมีการนำเสนอข้อมูลและข้อคิดเห็นจากหลายๆด้าน มาประมวลผลเพื่อให้เกิดเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย ในอนาคตเฟิร์นอยากเห็นคนในประเทศกลับมาผูกพันกับแม่น้ำอีกครั้ง ช่วยกันฟื้นฟูดูแลสิ่งที่อยู่ควบคู่กับแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ให้สืบทอดไปสู่ในคนรุ่นต่อๆ ไป อยากให้เเม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับคนไทยตลอดไป
ศาชล เถาว์ศิริ หรือ ฮาร์ท นักศึกษาไฟแรง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 2 สจล. กล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยาของเราถูกละเลยมานานและมีปัญหาความเสื่อมโทรมที่สั่งสมมามากมายจากคุณภาพน้ำ การทิ้งขยะและน้ำเสียที่ยังไม่ผ่านการบำบัดลงไป รู้จักโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากเพื่อนคนหนึ่ง เห็นว่า เป็นเรื่องดีที่เราจะช่วยฟื้นฟูแม่น้ำ ภูมิทัศน์ นันทนาการ เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ จึงเข้ามาเป็นอาสาสมัครรักษ์เจ้าพระยา ที่ศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยา อย่างเต็มตัวในช่วงปิดเทอม ซึ่งเป็นประโยชน์เติมประสบการณ์ที่ดีให้ตัวเราและได้ทำประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมด้วย ผมได้เรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจที่คนรุ่นใหม่อย่างเราไม่เคยรู้มาก่อน อย่างเช่น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในแต่ละชุมชน ภูมิปัญญาต่างๆ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และที่ชอบที่สุด คือ ความสุขจากความทรงจำของคนที่ได้เข้าไปพูดคุยด้วย โดยส่วนตัวผมชอบของเก่า ซึ่งมักจะมีการผลิตที่ประณีตซับซ้อนและใส่ใจในการใช้สอยมากๆ ทำให้สิ่งของนั้นมีเรื่องราวและคุณค่าในตัวของมัน และจากการลงพื้นที่สำรวจก็ได้เห็นกล่องไม้ที่ไว้ใส่จานชามของร้านรับจัดอาหารที่เปิดกิจการมานาน ซึ่งทำให้เห็นถึงการใช้ชีวิตประจำวันของคนสมัยก่อนได้ การทำกิจกรรมนี้เป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นและมีค่าแก่การเรียนรู้ เพราะแต่ละชุมชนมีเรื่องราวและลักษณะแตกต่างกัน ผมได้สัมผัสขั้นตอนการทำงานอย่างมีระบบของทีมพี่ๆ พัฒนาทักษะการพูดคุยแลกเปลี่ยน ฯลฯ ในอนาคตผมอยากเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาใสสะอาด สวยงามและเป็นแม่น้ำของทุกคน