สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยหวั่นวิศวกรไทยล้าหลัง ยื่นข้อคิดเห็นต่อร่างข้อบังคับสภาวิศวกร

0
302
image_pdfimage_printPrint

สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะทำงานผู้พัฒนาและกำหนดทิศทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีของประเทศไทย นำโดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยมี ดร.อาณัติ ดีพัฒนา ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 38 เป็นประธานการประชุมในครั้งนี้ ร่วมกันสะท้อนถึงความอึดอัดใจที่องค์กรวิชาชีพทางวิศวกรรมครอบงำทำให้หลักสูตรต่างๆ ทางวิศวกรรมไม่ทันสมัยล้าหลังและแข่งขันกับชาติอื่นๆไม่ได้ ซึ่งที่ประชุมได้หารือเพื่อเตรียมนำเสนอรัฐบาลให้ปลดล็อคการแทรกแซงโดยให้ยกเลิกการแทรกแซงในเรื่องขบวนการเรียนการสอนและการรับรองหลักสูตรโดยองค์กรวิชาชีพ ซึ่งถ้าประเทศไทยยังติดกับดักนี้อยู่จะทำให้เราล้าหลังไปเรื่อยๆ และจะสู้ใครไม่ได้อีกเลยในอาเซียน ณ ห้องประชุม ชั้น6 อาคาร A คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

ตามที่สภาวิศวกรกำลังดำเนินการปรับแก้ข้อบังคับสภาวิศวกรว่าด้วยการรับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และได้มีการประชุมหารือร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสภาวิศวกรกับคณะอนุกรรมการมาตรฐานการศึกษา โดยมีประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วยในฐานะอนุกรรมการมาตรฐานการศึกษา ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้นำร่างข้อบังคับฯ ฉบับดังกล่าวเสนอพิจารณาเพื่อแสดงความเห็นต่อร่าง ข้อบังคับฯ ในที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทp

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากการประชุมสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 38 ครั้งที่ 3 มีมติเสนอข้อคิดเห็นต่อร่างข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยการรับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จำนวน 2 ข้อ ได้แก่ 1.ขอแก้ไขข้อ 8 วรรคหนึ่ง (2) ของข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยการรับรองปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2554 เป็น (2) มีการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Basic Sciences) วิชาพื้นฐานทางวิศวกรรม (Basic Engineering) และวิชาเฉพาะทางวิศวกรรม (Specific Engineering) โดยวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมและวิชาเฉพาะทางวิศวกรรม ต้องมีหน่วยกิตรวมกันไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต โดยมีเหตุผลเพื่อปรับลดหน่วยกิตรวมของกลุ่มวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมและกลุ่มวิชาเฉพาะทางวิศวกรรมจากไม่น้อยกว่า 84 หน่วยกิต เป็น ไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต ซึ่งมีเหตุผลประกอบ 4 ประการ ได่แก่ 1.เป็นผลดีต่อการพัฒนาหลักสูตรทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้มีความทันสมัยและมีความยืดหยุ่นภายใต้การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์ นอกจากนี้ยังเอื้อต่อการพัฒนาหลักสูตรที่มุ่งเน้นถึงผลสัมฤทธิ์ของบัณฑิต (Outcome based curriculum) 2.การปรับลดหน่วยกิตดังกล่าว ไม่ได้กระทบรายละเอียดและสาระรายวิชาที่สภาวิศวกรกำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการสภาวิศวกร ว่าด้วยวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ วิชาพื้นฐานทางวิศวกรรม และวิชาเฉพาะทางวิศวกรรม ที่สภาวิศวกรให้การรับรองปริญญา ประกาศนียบัตร และวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม 3.การปรับลดหน่วยกิตจะช่วยเกื้อหนุนให้การจัดการศึกษาสามารถบูรณาการกับการทำงาน (Work Integrated Learning) หรือสหกิจศึกษา (Co-operative education) ซึ่งเป็นความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตและนโยบายของรัฐบาล 4.การปรับลดหน่วยกิตจะทำให้การจัดแผนการการศึกษาในแต่ละภาคเรียนมีจำนวนหน่วยกิตที่ลดลงจากปัจจุบันที่เป็นอยู่ ซึ่งหลักสูตรทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ กำหนดการเรียนการสอนโดยเฉลี่ยภาคเรียนละ 18 ถึง 20 หน่วยกิต และจะทำให้นิสิตนักศึกษาสามารถมีเวลามากขึ้นในการที่จะไปพัฒนาทักษะการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการฝึกประสบการณ์หรือฝึกปฏิบัติมีความสำคัญมากกว่ากระบวนการสอนในชั้นเรียน

ข้อเสนอที่ 2.ขอให้คงข้อ 10 ของข้อบังคับสภาวิศวกรว่าด้วยการรับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ.2554 ไว้ตามเดิมโดยไม่ต้องมีการปรับแก้ใดๆ เนื่องจากในร่างฯ ที่สภาวิศวกรเสนอปรับแก้นั้น จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติมากขึ้น การกำหนดอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาเฉพาะทางวิศวกรรม ที่จะต้องสำเร็จการศึกษาในสาขาที่ตรงหรือสัมพันธ์กันกับวิชาที่สอน ไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นจริงในปัจจุบันที่เกิดสาขาวิชาใหม่ๆ มากขึ้น นอกจากนี้การประชุมสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางในการดำเนินการรับรองปริญญาฯ ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สภาวิศวกรควรยกเลิกข้อบังคับฯ ระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองปริญญาฯ ที่ใช้ในปัจจุบัน สภาวิศวกรควรกำหนดสมรรถนะที่พึงประสงค์ของวิศวกรและใช้สมรรถนะดังกล่าวเป็นแนวทางในการกำหนดกรอบการรับรองปริญญาฯ ให้สอดคล้องกับการรับรองปริญญาฯ ที่ยอมรับในระดับสากล เนื่องจากในปัจจุบันกระบวนการรับรองปริญญาฯ มีลักษณะเป็นการก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาและไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาการทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ในการที่จะไปแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้

อย่างไรก็ตามกระบวนการเรียนการสอนทางด้านวิศวกรรม และการรับรองหลักสูตรต่างๆ โดยองค์กรวิชาชีพของประเทศไทยยังติดกับดักเหล่านี้อยู่ จะทำให้ระบบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมในประเทศไทยล้าหลัง และไม่สามารถเทียบเท่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้เลย