ระวังภัย…ฟิลเลอร์ ตรวจสอบก่อนฉีด
หลังจากที่ตกเป็นข่าวดังทอร์คออฟเดอะทาวน์ สั่นสะเทือนวงการความงามของไทยกับประเด็นสาวพริตตี้ฉีดฟิลเลอร์ที่สะโพกจนเสียชีวิต ทำให้สังคมเกิดคำถามในสารที่เรียกว่าฟิลเลอร์ว่า เป็นสารชนิดใดและมีความปลอดภัยเพียงไร รวมทั้งมีปัจจัยที่ต้องระวังก่อนที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจฉีดสารชนิดนี้
ฟิลเลอร์คืออะไร…ปลอดภัยจริงหรือ
นพ.ทรงยศ จันทจิตร์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง แห่งยศยาคลินิก กล่าวว่า ฟิลเลอร์ คือสารที่นำมาฉีดเติมเต็มใต้ผิวหนัง ปัจจุบันมีสารหลายชนิดที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และถูกนำมาใช้มากที่สุดคือ สารไฮยาลูรอนิก แอสิด (Hyaluronic Acid) และการฉีดไขมันตนเอง (Fat Transfer) ซึ่งสารไฮยาลูรอนิก เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลายทั่วโลกมากกว่าสารอื่นๆ เพราะผ่านมาตรฐานการรับรองความปลอดภัยจากคณะกรรมการอาหารและยาในการใช้ โดยการสังเคราะห์ไฮยาลูรอนิกนี้จะมีลักษณะโมเลกุลคล้ายกับสารไฮยาลูรอนิกในร่างกายมนุษย์ และเนื่องจากไม่ใช่เป็นคอลลาเจนที่ผลิตมาจากสัตว์ โอกาสที่จะเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองมีน้อย โดยคุณสมบัติของสารไฮยาลูรอนิกมีอายุประมาณ 8-12 เดือน แล้วจะค่อยๆสลายไปตามธรรมชาติ โดยไม่มีร่องรอยใดๆทิ้งไว้ ซึ่งนับเป็นข้อดีของฟิลเลอร์เพราะหากมีข้อผิดพลาดหรือผู้ที่ฉีดไม่พอใจเมื่อเวลาผ่านไปฟิลเลอร์ที่ฉีดไว้ก็จะค่อยๆยุบตัวและหมดไปเอง
ฟิลเลอร์ปลอม…ตัวการความเสี่ยง
ปัจจุบันสาร Hyaluronic Acid หรือบางคนเรียกย่อๆว่า HA ถือว่าเป็นมาตรฐานในการฉีดฟิลเลอร์ มีความปลอดภัยสูงกว่าเมื่อเทียบกับสารตัวอื่นๆ จะมีราคาสูงกว่าพอสมควร เพราะเหตุที่มีราคาค่อนข้างแพงนี้เองจึงทำให้คลินิกเถื่อนหรือหมอกระเป๋าซึ่งแข่งขันในด้านราคา จึงพยายามนำสารอย่างอื่นมาใช้แทน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก สำหรับสารที่ต้องระวัง ได้แก่
1.สารไม่ปลอดเชื้อที่ห้ามใช้ทางการแพทย์ เช่น ซิลิโคนเหลว พาราฟิน หรือน้ำมันอื่น
2. สารที่ถูกผลิตมาใช้ฉีดอย่างปลอดเชื้อ มีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับ Hyaluronic Acid เพราะเป็นเนื้อเจลใส หากดูด้วยตาไม่สามารถแยกจากสารHyaluronic Acid ได้เลย จึงต้องระมัดระวังมาก เช่น คอลลาเจนที่สังเคราะห์จากสัตว์ ,polyacrylamide , polyamide หลายประเทศมีการนำมาฉีดอย่างแพร่หลายรวมทั้งตามคลินิกในเมืองไทย เพราะมีราคาถูกกว่าสาร HA หลายเท่าตัว และยังคงทนอยู่นานถาวร มีปัญหาแล้วสลายไม่ได้ สารเหล่านี้ไม่ผ่าน อย. เพราะความปลอดภัยไม่เพียงพอ มีโอกาสเกิดปฏิกิริยากับผิวหนังได้สูง สารทั้งสองประเภทนี้เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายซึ่งเป็นสารแปลกปลอมที่ร่างกายไม่ยอมรับ จะทำให้เกิดอาการบวมแดง อักเสบ เนื้อตายอย่างถาวร เกิดปัญหาไหลย้อย บิดเบี้ยว เกิดผลข้างเคียงในระยะยาว สารที่ว่านี้ยังไหลไปบริเวณข้างเคียงทำให้ผิดรูปร่าง เกิดเป็นก้อนขรุขระหรืออาจไหลเลื่อนไปส่วนอื่นได้ สารอันตรายนี้จะอยู่ในร่างกายได้นานโดยไม่มีการสลายตัว ไม่สามารถฉีดสลายได้เลยจึงทำให้แก้ไขได้ยากมาก
ตรวจสอบก่อนฉีด
หัวใจสำคัญที่ผู้บริโภคต้องคำนึงก่อนการฉีดฟิลเลอร์ ควรมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบมี 3 ประการคือ
1. สารที่ฉีด ต้องแน่ใจว่าเป็นฟิลเลอร์ Hyaluronic Acid ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ใช่สารอื่นที่หลอกว่าเป็นฟิลเลอร์ หรือเป็นฟิลเลอร์ราคาถูกที่มีขายตามเวปไซด์หรือนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย เพราะเสี่ยงที่จะเป็นฟิลเลอร์ปลอม หมดอายุ ไม่ได้คุณภาพ และดูภายนอกอาจจะไม่แตกต่าง ต้องอาศัยความเขี่ยวขาญและความน่าเชื่อถืออื่นๆมาประกอบกัน
2. คนฉีด เพราะการฉีดฟิลเลอร์จำเป็นอย่างมากที่แพทย์ต้องมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ทางกายวิภาคอย่างเชี่ยวชาญ มีเทคนิคการฉีดต้องถูกต้องเหมาะสม มีการประเมินรูปร่างว่าบริเวณใดต้องฉีดมากน้อยเพียงใด และฉีดสารในชั้นผิวหนังที่ถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะเมื่อฉีดสารเข้าไปย่อมมีโอกาสเสี่ยงในการที่จะไปโดนเส้นเลือดหรือบริเวณอื่นที่ไม่ต้องการ นำมาซึ่งอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตหรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้
3. สถานที่ฉีด ต้องฉีดในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย มีเครื่องมือช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน
ฉีดฟิลเลอร์ส่วนไหนได้บ้าง
ฟิลเลอร์เป็นสารเติมเต็มที่ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังมีคุณสมบัติเด่น 2 ประการคือ การเติมร่องริ้วรอยให้ตื้นขึ้น และ การเพิ่มปริมาตรเนื้อเยื่อในส่วนต่างๆของร่างกาย โดยการเติมร่องริ้วรอยทั้งร่องแก้ม ใต้ริมฝีปาก หัวคิ้ว และใต้ตาล่าง ส่วนการฉีดเพื่อเพิ่มปริมาตรของเนื้อเยื่อจะช่วยในการปรับรูปร่างใบหน้าให้สวยเข้ารูปได้สัดส่วนมากยิ่งขึ้นได้แก่ การฉีดเสริมจมูก คาง แก้ม ขมับ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในส่วนที่เป็นบริเวณกว้าง เช่น สะโพกซึ่งมีพื้นที่มากไม่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์ ด้วยข้อจำกัดด้านราคาของฟิลเลอร์ทำให้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมากหากฉีดในบริเวณกว้าง และโอกาสที่จะควบคุมให้ฟิลเลอร์คงรูปร่างตามที่ต้องการเป็นไปได้ยากเพราะพื้นที่เยอะ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกหลอกนำสารที่ไม่ใช่ฟิลเลอร์จริงมาฉีดให้
เสริมสะโพกด้วยวิธีอื่นได้ผลดีกว่า
ผู้ที่อยากจะเสริมสะโพกแบบปลอดภัยมีทางเลือกอื่น
1.เสริมสะโพกโดยใช้แผ่นและถุงซิลิโคน ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน แต่ต้องทำโดยศัลยแพทย์ตกแต่งผู้มีความชำนาญ ใช้ระยะเวลาพักฟื้นนาน และมีแผลจากการผ่าตัด
2.เสริมสะโพกโดยใช้ไขมันตัวเอง (Fat Transfer) โดยดูดไขมันส่วนเกินจากหน้าท้องและต้นขา มาผสมกับเซลล์ต้นกำเนิด(เสต็มเซลล์) โดยผ่านกรรมวิธีด้านเทคนิคในห้องปฏิบัติการ แล้วฉีดกลับเข้าไปเสริมสะโพก อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงมากและต้องทำภายใต้การควบคุมในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ปลอดเชื้อ ที่สำคัญต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ข้อดีคือไม่มีแผล และไขมันของตนเองไม่เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ทำให้ไม่เป็นอันตราย ความเสี่ยงจึงมีน้อยกว่า อย่างไรก็ตามไขมันที่ฉีดเข้าไปมีโอกาสฝ่อตัวลง 20-30% จึงอาจต้องกลับมาเติมใหม่เมื่อเวลาผ่านไป 3-6 เดือน หรือมีโอกาสเกิดก้อนแข็งของไขมันที่ตายหลังทำได้
การฉีดหรือการนำพาสารแปลกปลอมอื่นเข้าไปในร่างกาย เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรให้ความตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงของการทำ ควบคู่ไปกับความสวยที่ต้องการ เมื่อตัดสินใจทำแล้วต้องคำนึงเสมอว่าต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สารหรือวัตถุที่นำเข้าไปในร่างกายต้องผ่านการรับรองความปลอดภัย โดยทำในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต อย่าลืมพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เป็นความสวยที่อยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยงให้น้อยที่สุดนั่นเอง