7 โรคยกเว้นเท่านั้นที่ สปส.ไม่ให้ความคุ้มครอง

0
571
image_pdfimage_printPrint

7 โรคยกเว้นเท่านั้นที่ สปส.ไม่ให้ความคุ้มครอง
หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับสำนักงานประกันสังคมเร่งชี้แจงทำความเข้าใจผู้ประกันตน และสื่อมวลชนที่เสนอข่าวโรคยกเว้นที่ไม่ได้รับความคุ้มครองในระบบประกันสังคม เผยยึดหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของการประกันสังคม ซึ่งมีความเหมาะสมตามหลักการทางการแพทย์ และสอดคล้องกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐอื่นๆ ของประเทศไทย ด้านนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม รับลูก แจงสื่อ ย้ำโรคยกเว้นมีแค่ 7 โรคเท่านั้น ที่มิใช่ 14 โรคอย่างที่เป็นข่าว
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงว่า ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวเกี่ยวกับ 14 โรค ที่สำนักงานประกันสังคม “ไม่คุ้มครอง “ ซึ่งตามขอเท็จจริงแล้วมีเพียง 7 กรณีเท่านั้นที่มีความชัดเจนว่าสำนักงานประกันสังคมไม่ให้ความคุ้มครอง ประกอบด้วย 1.การกระทำใดๆเพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 2.การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาการค้นคว้าทดลอง 3.การรักษาภาวะมีบุตรยาก 4.การตรวจใดๆ ที่เกินความจำเป็นในการรักษาโรคนั้น 5.การเปลี่ยนเพศ 6.การผสมเทียม และ 7.การบริการระหว่างรักษาตัวแบบพักฟื้น อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมให้ความสำคัญในการดูแลคุ้มครองและครอบคลุมการให้บริการทางการแพทย์ให้เข้าถึงผู้ประกันตนให้มากที่สุด มุ่งมั่นพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตน โดยให้สิทธิความคุ้มครองการรักษาผู้ประกันตนในกรณีเจ็บป่วยทุกกรณีจนสิ้นสุดการรักษา เช่น ผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคจิต รวมถึงโรคหรือการประสบอันตรายอันเนื่องจากการใช้สารเสพติด โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือโรคที่มีความจำเป็นและมีข้อบ่งชี้ ทางการแพทย์ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทคนไข้ในเกินกว่า 180 วัน ใน 1 ปี รวมทั้งยังได้ให้สิทธิผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไต เพื่อบำบัดทดแทนไตทั้งที่เป็นกรณีไตวายเฉียบพลัน หรือไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายอวัยวะ รวมถึงการตรวจเนื้อเยื่อ เพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะด้วย ซึ่งประกอบด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต การปลูกถ่ายไตการเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา การปลูกถ่ายหัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน และการปลูกถ่ายอวัยวะ 2 อวัยวะพร้อมกัน ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและข้อบ่งชี้ ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดตามแนวทางการรักษาและมาตรฐานที่ราชวิทยาลัยหรือสมาคมวิชาชีพ กรณีทันตกรรม สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองครอบคลุม ทั้งการถอนฟัน อุดฟัน ผ่าฟันคุด ขูดหินปูนและการใส่ฟันเทียม ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการได้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐ เอกชน รวมถึงคลินิกทันตกรรม ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมยังอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตนโดยไม่ต้องสำรองจ่าย หากเข้ารับบริการในสถานพยาบาลทันตกรรมที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม สำหรับแว่นตา กรณีที่ผู้ประกันตนเจ็บป่วยเป็นต้อกระจกและต้องผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตาออก หากไม่ใส่เลนส์แก้วตาเทียมสามารถเบิกค่าอุปกรณ์แว่นตา สำหรับมองไกล แว่นตาสำหรับมองใกล้ และเลนส์สัมผัสจากสำนักงานประกันสังคมได้ ดังนั้น จึงขอให้ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน มั่นใจในระบบการให้บริการและการรักษาเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้โดยยึดหลักการดำเนินงานภายใต้แนวทางของ หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาระบบประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนต่อไป