4 เยาวชนไทย คว้ารางวัลรองชนะเลิศ Deloitte Business Challenge 2017 บนเวทีอาเซียน

0
341
image_pdfimage_printPrint

ดีลอยท์ เดินหน้าจัดการแข่งขัน Deloitte Business Challenge : Risk Intelligence ประจำปี 2560 เปิดโอกาสให้เยาวชนไทย แสดงความสามารถในการคิดวิเคราะห์และวางแผนธุรกิจบนเวทีระดับภูมิภาคอาเซียน โดยในปีนี้ ดีลอยท์ (ประเทศไทย) เป็นเจ้าภาพ ภายใต้โจทย์ท้าทาย “การบริหารความเสี่ยงสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ” ผลปรากฎนักศึกษาไทยสามารถคว้ารางวัล“รองชนะเลิศ” จากผู้เข้าร่วมแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วจาก 5 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ ไทย

น.ส.ปาริชาติ จิรวัชรา พาร์ทเนอร์ด้านการบริหารความเสี่ยง บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย ในฐานะผู้จัดโครงการเปิดเผยว่า หัวข้อการแข่งขันปีนี้ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่อง “การบริหารความเสี่ยง” (Risk Management) เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสเศรษฐกิจโลกในยุคดิจิตอล ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจมีความเสี่ยงในมิติต่างๆ อย่างไรก็ตาม หัวข้อการแข่งขันในปีนี้ได้ตั้งโจทย์ให้นักศึกษาได้ขบคิดถึงความเสี่ยงของธุรกิจ Startup ที่กำลังมาแรงและเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่

“การดึงหัวข้อ Startup มาเป็นโจทย์เพื่อให้น้องๆซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่เกิดความสนใจ เพราะปัจจุบันทั่วโลก มี Startup เกิดขึ้นเยอะมาก แต่ที่ประสบความสำเร็จจริงจะมีไม่มาก จึงอยากมอบประสบการณ์ และมุมมองในมิติเชิงลึก เพื่อให้รู้ว่าธุรกิจของคุณควรพิจารณาความเสี่ยงอะไรต่างๆอย่างไรบ้าง ก่อนลงทุนต้องมีวิธีบริหารจัดการอย่างไร เพื่อควบคุมความเสี่ยงเหล่านั้น ทั้งเรื่อง Cyber , การเงิน และ กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการจะไปเป็น Startup ในตปท.” นส.ปาริชาติกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนการแข่งขัน ดีลอยท์ได้เชิญ มิสเตอร์ รุชดี ไครุล ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO จาก Reactor ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญและให้ความรู้ด้าน Startup ในประเทศสิงคโปร์ มาให้ความรู้กับเยาวชนทั้ง 5 ประเทศรวมทั้งยังให้เกียรติร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินด้วย

สำหรับผลการแข่งขันปรากฎ 4 เยาวชนไทย ใช้ชื่อทีม “Jit” ซึ่งประกอบด้วย น.ส.ชุติมา เลิศสุรศักดิ์ (มุก) น.ส.ดลพร พิทักษ์สิทธิ์ (พลอย) น.ส.กัญญาภัค ทรงมณี (โม) และ นายณัฐพงษ์ พิภพภิญโญ (โจโจ้)
จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีหลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รองจากทีมสิงคโปร์

นอกเหนือจากประสบการณ์การแข่งขันในเวทีระดับสากลที่ได้พบปะเพื่อนใหม่จากต่างประเทศแล้ว การได้รับความรู้จากพี่ๆทีมงานแผนกบริหารความเสี่ยง ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของดีลอยท์ ถือเป็นความประทับใจของน้องๆเยาวชนของไทย และถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ด้านธุรกิจที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหนในตำรา

“ก่อนเข้ามาแข่งขัน ในทีมเราซึ่งเรียนมาจุฬา BBA ซึ่งเป็นด้านธุรกิจอยู่แล้วก็จะมี awareness ของ Startup บ้าง แต่ถ้ามองในมุมการบริหารจัดการความเสี่ยงนี่ยังน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่คนจะมองแค่ว่าเราจะทำ marketing ให้แตกต่าง จะทำยังไงให้เราเกิด หรือตอบสนองลูกค้าอย่างไร แต่เราจะมองข้ามความเสี่ยง แต่การเข้ามาพบพี่ดีลอยท์ที่มาโคชให้ โดยมีพี่ระดับพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วยดู ทำให้ได้รับคำแนะนำที่ดีมาก ได้แนวทางในการทำเคสที่ชัดเจนขึ้น” น.ส.ดลพร หนึ่งในทีมกล่าว

ความท้าทายของโจทย์ในเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ถือเป็นสิ่งพิสูจน์ความสามารถและการทำงานเป็นทีม ซึ่งเมื่อทุกคนได้เข้ามาค้นคว้าเชิงลึกทำให้เกิดความเข้าใจว่า การบริหารความเสี่ยงมีความสำคัญกับธุรกิจอย่างมาก เพราะ startup กว่า 90% ล้มเหลวเพราะไม่มี Risk management

“ประทับใจพี่ที่ดีลอยท์ทุกคน ถึงแม้จะอาจไม่ได้ร่วมงานกับพี่แต่เค้าก็อยากให้เราเรียนรู้ และเต็มที่ และทำให้ดีที่สุด ส่วนเพื่อนที่มาจากตปท.เราได้รู้จัก ได้มิตรภาพ” น.ส. ชุติมากล่าว

ในวันนี้ น้องๆเยาวชนจากทีม Jit ได้ก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงานแล้ว แต่ได้ฝากข้อคิดถึงเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเข้าประกวดให้เห็นความสำคัญของการบริหารเวลา ซึ่งควรเรียนรู้และเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ต้องค้นคว้าให้มากเพราะอาจไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเคยเรียนมา ดังนั้นต้องผลักดันตัวเองให้คิดเยอะกว่าที่เคยคิดมา และที่สำคัญคือการทำงานจะประสบความสำเร็จได้ต้องร่วมมือกันแบบทีมเวิร์ค

“เราไม่ต้องกลัวว่าใครจะเก่งกว่าเพราะเราไม่รู้เลยว่าเรามีศักยภาพขนาดไหน ถ้าเราฟอร์มทีมได้ก็ขอให้ตั้งใจว่าเราทำสำเร็จอยู่แล้ว โอกาสมันมีแต่ว่าน้องจะกล้าคว้าไหม ถ้าไม่กล้ามันก็จะไม่มีโอกาสให้เราได้พัฒนาตนเอง เข้ามาแล้วก็อยากให้เต็มที่เพราะหลายคนไม่ได้โอกาสมากแบบนี้” น.ส.กัญญาภัค กล่าวทิ้งท้าย