กรุงเทพฯ 27 กรกฎาคม 2555 – สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยและบริษัทเอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด เล็งเห็นถึงอันตรายของโรคไวรัสตับอักเสบซีซึ่งเป็นโรคติดเชื้อ ที่กำลังเป็นภัยร้ายคุกคามทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จึงร่วมกันรณรงค์ต่อต้านโรคไวรัสตับอักเสบซี เนื่องในวันตับอักเสบโลก ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ 28 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันตับอักเสบโลก” (World Hepatitis Day) เพื่อกระตุ้นและรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน รัฐบาล เอกชน รวมไปถึงภาคประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงภัยร้ายของโรคไวรัสตับอักเสบ ให้หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ รวมไปถึงการควบคุมและรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซึ่งตัวเลขของผู้ได้รับเชื้อมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และมีการคาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แบบเรื้อรังประมาณ 170 ล้านคนทั่วโลก ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมากกว่า 300,000 คน
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “ปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบซี มีเพียงวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และ บี กลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี คือ ใช้เข็มฉีดยาชนิดเข้าเส้นร่วมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด การสัก เจาะ ตามร่างกายด้วยเครื่องมือที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ การรับโลหิตจากการบริจาคเลือดที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองก่อน รวมทั้งการใช้เข็มฉีดยาซ้ำ หรือ การฉีดยาโดยหมอเถื่อนตามบ้าน
นอกจากนี้ควรไปตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประจำทุกปีเพราะคนไข้มักจะไม่ทราบว่าติดเชื้อมาแล้วหรือไม่ เนื่องจากไม่มีลักษณะอาการจำเพาะที่บ่งถึงโรคตับอักเสบซีนี้ อาการเบื้องต้น อาจมีไข้ต่ำ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ดังนั้นคนไข้จึงไม่ตระหนักว่าอาจเป็นอาการของไวรัสตับอักเสบซี กว่าจะรู้ตัวว่าติดเชื้อก็ต่อเมื่อมีอาการรุนแรง บางรายรุนแรงจนกลายเป็นโรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับในที่สุด”
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ กล่าวต่อว่า “ในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมาแล้วก็ต้องทำการรักษาเพื่อกำจัดไวรัสให้หมดไป ทำให้ตับที่อักเสบลดการอักเสบลงและกลับคืนสู่ภาวะปกติ ยาที่ใช้รักษาจะเป็นยาฉีด ต้องฉีดสัปดาห์ละครั้งร่วมกับยารับประทาน โดยการรักษาเป็นระยะเวลา 24 -48 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ นอกจากนี้ ยาในกลุ่มนี้ยังมีที่เป็น weight- based dosing คือให้ตามน้ำหนักของผู้ป่วยทำให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษาตรงกับผู้ป่วยแต่ละคนได้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ 200,000 ถึง 400,000 บาท พบว่าคนไข้บางรายที่ติดเชื้อมาแล้วแต่ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ ก็ต้องหยุดการรักษาไป แต่อีกไม่นานนี้คนไข้จะมีความหวังในการเข้าถึงยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี อย่างทั่วถึงทั้งระบบสวัสดิการข้าราชการซึ่งปัจจุบันเบิกได้อยู่แล้ว ระบบประกันสังคม และ 30 บาท ทำให้ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ์ 2 และ3 ในทุกระบบ เข้าถึงการรักษาได้โดยไม่ต้องจ่ายค่ายาเอง นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการลดความเสี่ยงของการนำไปสู่โรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับอีกด้วย”
นายแพทย์สุชัย กิจศิริพรชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บริษัทเอ็มเอสดี มีการวิจัยและพัฒนายารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี มากว่า 20 ปี โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคร้ายที่เป็นภัยเงียบ ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับโรคนี้ เอ็มเอสดีจึงต้องการสร้างความเข้าใจโรคไวรัสตับอักเสบซีในหมู่ประชาชน โดยมีเป้าหมายที่จะกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หมดไปจากประเทศไทย”
ปิยะมาศ โมนยะกุล ดารานักแสดง ฝากข้อคิดเตือนให้ทุกคนไปตรวจเลือด “โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคที่ต้องตรวจเลือดถึงจะเจอว่าติดเชื้อมาแล้ว ถ้าไม่ตรวจก็จะไม่รู้ตัวเพราะมักไม่มีอาการ หรือมีอาการแสดงของโรคไม่จำเพาะ ฉะนั้นอยากจะฝากให้ทุกคนดูแลตัวเองโดยการไปตรวจเลือดหาเชื้อนี้ เพราะถ้าตรวจเจอในช่วงแรก มีโอกาสรักษาทันและหายได้”