12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง “CONNEXT ED” เดินหน้าสานพลังประชารัฐ จัดเวิร์คช้อป ครั้งที่ 3 เสริมแกร่งผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน
การประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (CONNEXT ED) ได้จัดต่อเนื่องครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเพิ่มพูนทักษะและเสริมองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้แก่เหล่าผู้นำรุ่นใหม่ (School Partners) ของทั้ง 12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้งกว่า 600 คน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยงานนี้ ได้รับเกียรติจากหม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนหัวหน้าทีมภาครัฐ โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ พร้อมด้วยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ / ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังได้รับเมตตาจากพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ประธานมูลนิธิวิมุตตยาลัย มาร่วมแสดงธรรมเทศนาพิเศษ หัวข้อ “เบิกบานใจกับการรับใช้เพื่อนมนุษย์” สะท้อนคุณค่าของการทำหน้าที่เพื่อสังคมของ School Partners (SP) โดยตลอดวัน SP ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งแนวทางการนำแผนพัฒนาที่ได้รับการอนุมัติไปใช้ปฏิบัติจริงให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนในโรงเรียนประชารัฐ วิธีการใช้สื่อและอุปกรณ์โรงเรียนประชารัฐ ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลใจ และเทคนิคการสร้างภาวะผู้นำโดยได้วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้อย่างเต็มที่
ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนหัวหน้าทีมภาครัฐ กล่าวถึงสถานการณ์ของการศึกษาไทยว่า “กระทรวงศึกษาธิการมีโรงเรียน 30,000 กว่าโรง ต้องดูแลเด็กนักเรียน 12 ล้านคน โดยมีครูเพียง 4 แสนคน จึงเป็นภาระหนักหน่วงของคนในวงการการศึกษา ซึ่งระบบการศึกษาปฏิรูปอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องปฏิวัติสู่ความเป็นประชารัฐ เพราะหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาลเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และเมื่อมีโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน “CONNEXT ED” ซึ่งเป็นการสร้างผู้นำอาสาสมัครที่ลงพื้นที่ให้ช่วยดูว่าโรงเรียนประชารัฐขาดอะไรบ้าง นับเป็น “แขนขา” ทำให้การศึกษาไทยมีทิศทางสดใสขึ้นอย่างยิ่ง ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จะกลายเป็นแม่เหล็กและกระตุ้นให้เกิดอาสาสมัคร มาช่วยพัฒนาเด็ก และสร้างคนคุณภาพแบบก้าวกระโดด”
ส่วนความสำคัญของผู้นำจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่การศึกษาไทยได้มากน้อยเพียงใดนั้น นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ / ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า “สิ่งที่เหล่า SP ของทั้ง 12 องค์กรได้ดำเนินการมาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เชื่อมั่นได้ว่าได้เรียนรู้อะไรมากมาย และสะท้อนให้เห็นว่าทุกคนต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ นับเป็นการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน การจะพัฒนาเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง ต้องทุ่มเท ใช้เวลา เอาใจเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้เกิดผลและสามารถเห็นทิศทางในการช่วยเหลือโรงเรียนต่อไปได้ โดยอาศัยแรงขับเคลื่อน อย่าละความตั้งใจที่มี ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรก็ตาม เจอคำสบประมาทก็ต้องอยู่ให้ได้ เพราะหากไม่มีอุปสรรค คงไม่เกิดผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้”
ทั้งนี้ คุณศุภชัย ยังได้ให้เคล็ดลับในการทำงานแก่ SP ทั้งหลายด้วย “แนวคิด 4 เรื่อง” โดยผู้นำที่ดีต้องมุ่งเน้น นั่นคือ ความโปร่งใส หรือมีตัวชี้วัด (KPI) หากไม่มีตัววัด ไม่มีเป้าหมาย ก็จะไม่สามารถบริหารงานหรือขับเคลื่อนได้ ต่อด้วย กลไกตลาด ทำอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าเดิม ต้องทำให้คนสามารถติดตามเปรียบเทียบได้ เพราะกลไกตลาดเป็นกระบวนการเปรียบเทียบการแข่งขันที่ดีที่สุด ข้อต่อไปคือ ผู้นำที่ดี คือผู้ที่ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม เป็นผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ทุกคนต้องมีความเป็นผู้นำ มีจิตอาสา เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญและอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้นำที่ดีให้แก่องค์กร ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็จะมีผู้นำโดยธรรมชาติอยู่แล้ว สุดท้ายคือ การศึกษาที่ทำให้นักเรียนป็นศูนย์กลาง (Child Centric) โดยมองที่ตัวเด็กก่อน โดยต้องมีข้อมูลของเด็ก รู้ไปถึงสถานภาพ การใช้ชีวิต การเงิน ความครบถ้วนด้านปัจจัย 4”
“สังคมไทยทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา กระทรวงเดียวจะขับเคลื่อนการศึกษาทั้งประเทศคงไม่ได้ ส่วนอื่นในสังคมต้องให้ความสำคัญ โดยคำนึงถึงวิธีการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเด็กเรียนรู้จากการสอนเพียง 10-20% แต่เรียนรู้จากการกระทำ 80-90% ดังนั้น การเรียนการสอนต้องมุ่งเน้นการปฏิบัติมากขึ้น ผ่านแนวทาง 4 ข้อ คือ 1.ให้เด็กตั้งคำถามแต่ละชั่วโมงและวิชา แต่ละบทเรียน เด็กจะได้สนใจ อยากรู้ อยากมีส่วนร่วม 2.ค้นหาคำตอบ 3.วิเคราะห์ โต้แย้ง แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง และ 4.ลงมือทำด้วยกัน ไม่ใช่ทำคนเดียว”
นอกจากนี้ ยังกล่าวเสริมว่า “การเรียนรู้ ต้องมองว่าถ้าจะสนับสนุนโรงเรียนให้เกิดผลลัพธ์ ต้องมี Learning Center ทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงให้เยาวชนมีบทบาทการเรียนรู้ วิสัยทัศน์ และวิชาชีพไปด้วยกัน ซึ่ง “เอกชน” เป็นสถาบันที่มีองค์ความรู้ มีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ ตลาด และสังคม มีเครื่องมือ วัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กมีวิสัยทัศน์ ต่อยอดความรู้ และมีจุดยืนในสังคมได้”
นานาทัศนะจากคนทำงาน School Partners : SP
ทั้งนี้ ในบรรดาผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน “CONNEXT ED” กว่า 600 คน จาก 12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กลุ่มเซ็นทรัล บมจ. ซีพี ออลล์ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กลุ่มมิตรผล บมจ.ปตท. บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ บมจ.ไทย ยูเนี่ยนกรุ๊ป และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้มีตัวแทน SP มาเล่าถึงโอกาสที่ตนได้รับและถ่ายทอดให้แก่โรงเรียนต่างๆ
“โครงการนี้ เปลี่ยนทัศนคติคนได้” น.ส.นภาพร ผาทอง ตัวแทนจาก บมจ. ธนาคารกรุงเทพ หนึ่งใน SP ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า ธนาคารกรุงเทพ มี SP ทั้งหมด 80 คน รับผิดชอบ 207 โรงเรียน โดยตอนแรกที่เข้าร่วมโครงการ ตนเองเกิดความสงสัยถึงลักษณะการทำงานของโครงการ และยังไม่แน่ใจว่าตนเองจะไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาไทยให้ยั่งยืนได้อย่างไร เพราะทำงานอยู่ภาคเอกชน เป็นเพียงพนักงานคนหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ CONNEXT ED ความคิดเหล่านั้นก็เปลี่ยนไป
“SP ก็ได้รับการพัฒนาตัวเองด้วย ซึ่งการได้เข้าร่วมเวิร์คช้อป ทำให้เรามีวิธีการต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยโรงเรียนแต่ละแห่งให้ตอบโจทย์และเห็นภาพการพัฒนาการศึกษา และบทบาทของตนเองได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราไม่ได้เข้าไปสั่งการ แต่เข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์ ผู้ช่วยผู้บริหารโรงเรียน ครูในพื้นที่ให้เขาสามารถคิดโครงการพัฒนาเด็ก และเราสามารถทำอะไรช่วยเหลือได้บ้าง โดยทางกลุ่มจะรับผิดชอบ 3 โรงเรียน จ.ลำพูน ได้แก่ โรงเรียนวัดบ้านก้อง โรงเรียนอุโมงค์วิทยาคม โรงเรียนวชิรป่าซาง แต่ละโรงเรียน เด็กมีความขาด และจุดเด่นแตกต่างกันไป โดยสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ให้เด็กเขียนเรียงความ เพราะการลงพื้นที่เพื่อช่วยยกระดับการศึกษาโดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ต้องรู้ความต้องการของเด็กอย่างแท้จริง เมื่อได้ข้อมูลก็นำมาจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนแต่ละแห่งให้มีศักยภาพ ต่อยอดมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้ง 3 โรงเรียน เน้นการสร้างอาชีพ เป็นวิชาชีพติดตัว โครงการ CONNEXT ED จึงเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา โรงเรียน ผู้อำนวยการ ครู และเด็กอย่างมาก”
“โครงการนี้ เปลี่ยนความตั้งใจเป็นความมุ่งมั่น” นายพชร ชัยอารีย์กิจ ตัวแทนจาก กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวถึงความรู้สึกของตนเองว่า เขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบการศึกษาเท่ากับผู้บริหารโรงเรียน ครู ตัวแทนชุมชน ดังนั้น ก่อนลงพื้นที่ จึงมีความกังวลใจ เพราะไม่รู้ว่าต้องเจออะไรบ้าง แต่หลังจากได้ลงพื้นที่ พูดคุยกับโรงเรียน ได้เปลี่ยนความกังวลใจ เป็นความท้าทาย ยิ่งได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของผู้อำนวยการ ครู และประกายในแววตาของนักเรียน เป็นสิ่งที่อยากให้ทำโครงการนี้ ด้วยการสร้างสรรค์แผนงานต่างๆ เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้ได้จริงๆ
“ทีมกลุ่มเซ็นทรัล รับผิดชอบในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ เมื่อได้ลงพื้นที่และเก็บข้อมูลจากโรงเรียนต่างๆ พบว่าทุกโรงเรียนต้องการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ ให้สามารถสื่อสาร ได้กระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ที่สามารถนำไปถ่ายทอดแก่เด็กได้ เมื่อเล็งเห็นถึงความต้องการและปัญหาต่างๆ จึงได้จัดโครงการ English Teacher อบรมให้ครูได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ที่ไม่ใช่เพียงแต่สอนไวยากรณ์ แต่รวมถึงการฟัง พูด อ่าน เขียน นำไปสู่การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบใหม่ ทำให้ทุกคนได้เกิด ไอเดีย สร้างสื่อใหม่ๆ ที่เหมาะกับการเรียนการสอน เด็กได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน”
“ทุกครั้งที่ลงพื้นที่คือกำลังใจให้เดินหน้า” นายฐิติพล สุขะตุงคะ ตัวแทนจากบมจ. ปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่ของแต่ละโรงเรียน ย่อมมีทั้งปัญหาและอุปสรรค ซึ่งกลุ่มของเขาก็เจอปัญหาเช่นกัน ผู้บริหารโรงเรียนไม่เข้าใจถึงเหตุผลของโครงการ แต่เขาก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ยิ่งได้เห็นรอยยิ้มของเด็ก เห็นแววตา เห็นความสุข และความเชื่อมั่นว่าจะได้รับการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษา ยิ่งทำให้มีพลังใจที่จะทำงานในโครงการให้สำเร็จ และตอนนี้ก็สามารถจัดทำแผนการพัฒนาโรงเรียนโดยได้รับความร่วมมือจากผู้อำนวยการ ครู และเด็ก
“โครงการ CONNEXT ED ได้จัดให้มีการอบรม บ่มเพาะให้เรามีศักยภาพ ความพร้อม และเข้าใจระบบการศึกษา และเรียนรู้วิธีการที่ทำให้เกิดความร่วมมือกับผู้บริหารโรงเรียน ครู และคนในชุมชนได้ CONNEXT ED เป็นโครงการที่ดีมาก อยากให้จัดต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ภาคเอกชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาให้แก่เด็กไทย”
“ยกระดับพัฒนาระบบการศึกษาไทย ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้” น.ส.นันทนา ไชยธานี ตัวแทนจาก บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กล่าวว่า SP ทุกคนล้วนมีเป้าหมายในใจว่าจะทำอย่างไรให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะช่วยเหลือ พัฒนาศักยภาพของโรงเรียนและเด็กให้มากที่สุดได้อย่างไร ซึ่งกลุ่มตนรับผิดชอบในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา โดยได้ลงพื้นที่พบผู้อำนวยการโรงเรียนแต่ละแห่ง เพื่อทำความเข้าใจว่าจะสร้างความยั่งยืนในการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมกิจกรรมอย่างไร ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาเด็กได้ และรู้ถึงความต้องการของโรงเรียน
“เราไม่ได้เป็นผู้เข้าไปคิดแทน แต่เป็นผู้ช่วยผอ. ครู เด็ก ทุกกิจกรรมผอ. ครู เด็ก จะร่วมกันคิด ถ้าเกิดกิจกรรมแล้วจะมีผลอย่างไร ดำเนินการต่ออย่างไร ถ่ายทอดอย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในโรงเรียน ซึ่งตอนนี้แต่ละโรงเรียนมีโครงการไม่เหมือนกัน แต่ทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกัน ภายใต้การส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน และการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพแก่เด็กได้”
เคล็ดลับ : สื่อการเรียนการสอนโรงเรียนประชารัฐ แรงบันดาลใจ หัวใจผู้นำ
ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้การลงพื้นที่ทำงานของ SP มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเกิดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้เครื่องมือเพื่อนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน นับเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน และเพื่อให้เห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความเข้าใจตรงกัน จึงจัดให้มีการแสดงบทบาทสมมติจากทรูปลูกปัญญา ให้เหล่า School Partners ได้เรียนรู้ชุดอุปกรณ์และสื่อ ICT โรงเรียนประชารัฐ ได้แก่ สื่อดิจิทัล ระบบสืบค้นข้อมูลองค์ความรู้จากอินเทอร์เน็ต ช่องรายการสารคดีเพื่อการเรียนรู้ ห้องออกอากาศ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาของนักเรียนในโรงเรียนประชารัฐ ซึ่ง SP ก็จะนำความรู้เกี่ยวกับสื่อเหล่านี้ไปถ่ายทอด ชี้แนะให้ครูได้ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ในทุกการทำงานของ SP อาจต้องพบเจอกับปัญหาจนทำให้ท้อใจ จึงได้นักสร้างแรงบันดาลใจด้านการศึกษาตัวจริงเสียงจริง อย่าง ณัฐรดา เลขะธนชลท์ มากระตุ้นแรงขับเคลื่อนของ SP ให้ตระหนึกถึงความสำคัญของความร่วมมือ ทุกคนล้วนมีศักยภาพที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้นได้จริง โดยให้คิดเสมอว่า ทุกคนเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกได้ พร้อมตั้งคำถามหนึ่งอยู่ในใจเสมอ นั่นคือ “ทำยังไง” เช่น ทำยังไงจะขจัดปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ได้ หรือทำยังไงจะทำให้เด็กสนุกกับการเรียนในรั้วโรงเรียนให้ได้ เป็นต้น เพื่อให้เรามีแรงฮึดที่จะทำงานพัฒนาการศึกษาต่อไปได้
ส่งท้ายด้วยการเสริมแกร่ง สร้างภาวะความเป็นผู้นำให้แก่ SP โดยมีอาจารย์อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา มาร่วมให้คำแนะนำ เทคนิคดีๆ ในการจัดการกับทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะวิธีการสื่อสารกับผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียน และชุมชน ซึ่งต้องมีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกัน แต่จำเป็นต้องยึดหลักการสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และมีหัวใจที่มุ่งมั่น จึงจะบรรลุเป้าหมายได้
“เชื่อมั่นได้ว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการ CONNEXT ED ครั้งที่ 3 นี้ จะช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้นำรุ่นใหม่
ได้สามารถพิชิตภารกิจในการนำแผนพัฒนาไปใช้ในโรงเรียนประชารัฐให้เกิดความสำเร็จได้จริง”