1

1 ทศวรรษบนเส้นทางวรรณกรรม ‘เซเว่นบุ๊คอวอร์ด’

ครบทศวรรษพอดิบพอดีที่รางวัลทางวรรณกรรมชั้นนำอย่างเซเว่นบุ๊คอวอร์ดได้ส่งเสริมให้เกิดนักเขียนฝีมือดีที่สร้างสรรค์หนังสือชั้นเยี่ยมมากมายสู่วงการหนังสือไทย

711

ปีนี้ก็เช่นกันที่เวทีวรรณกรรมแห่งนี้ได้มอบโอกาสและความภาคภูมิใจแก่นักเขียนทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ให้เติบโตในวงการนี้อย่างมั่นคง เพราะนอกจากรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดโดยซีพี ออลล์จะเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จแล้ว ยังเปรียบเสมือนจุดประกายกำลังใจให้แก่นักเขียนรุ่นใหม่ที่ในปีนี้ส่งผลงานเข้าร่วมประชันกันเป็นจำนวนมาก

เมื่อนับรวมตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 10 ปี 2556 นี้ มีนักเขียนร่วมส่งผลงานประกวดอย่างมากมาย สะท้อนว่านี่คือรางวัลที่คนวรรณกรรมสนใจและเชื่อมั่นในคุณภาพ

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย กล่าวอย่างภูมิใจว่า สิบปีที่ผ่านมาผมยังไม่เปลี่ยนความคิดเลยว่าตราบใดที่เรายังภูมิใจในชาติไทย ยังภูมิใจในความเป็นคนไทยก็ต้องมีภาษาไทย ต้องมีหนังสือไทย ต้องมีนักเขียนไทยดีๆ ผลิตผลงานดีๆ ให้คนไทยอ่าน ตลอดสิบปีมานี้ก็มีผลงานมาส่งเข้าเวทีนี้ 3,044 ผลงาน ผมเองก็เกรงใจคณะกรรมการมาก แต่ละท่านต้องอ่านกันเต็มที่เลย ต้องอ่านแล้วทำงานด้วย ไม่ใช่อ่านเพลินเหมือนผม ทุกท่านอ่านเอางานเอาการ เหน็ดเหนื่อย เราก็เดินทางมาถึงวันนี้ และเราก็จะทำต่อไป

และในปีนี้เองผลงานที่เข้าวินได้แก่ “อินเดีย จาริกด้านใน” ของ ประมวล เพ็งจันทร์ คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทสารคดี

ศ.กีรติ บุญเจือ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทสารคดี แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นสารคดีที่ครบถ้วนทุกด้านจนเรียกได้ว่าดีเลิศ

“หนังสือเล่มนี้เป็นสารคดีชั้นเยี่ยม เยี่ยมทั้งสองด้าน หนึ่ง-เขาได้สะสมความรู้ชนิดตกผลึก ด้านที่สอง-เมื่อสะสมความรู้แล้วเขาได้แสดงออกมาอย่างผู้เจนเวทีต่อการใช้ภาษาไทย ผู้เขียนเมื่อเล่าถึงการเดินทางไปอินเดีย เขาแสดงถึงความรอบรู้เกี่ยวกับอินเดีย แม้แต่ก้อนหินสักก้อนเขาเห็นเบื้องหลังของก้อนหินว่าก้อนหินนี้

 

มีส่วนสร้างอารยธรรมอินเดียอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่การเมือง ศาสนา ศิลปะ นับเป็นการเขียนที่ดีเลิศ งานนี้จึงเรียกว่าประสานมิติทางจิตวิญญาณในการเดินทางเข้าไปส่วนลึกของจิตใจ ขนานกับการจาริกไปสถานที่ต่างๆ ความจัดเจนที่บรรยายในรูปแบบของจดหมาย เป็นวิธีที่เข้าท่ามาก นอกจากนั้นการใช้ภาษายังมีทั้งความงาม ละเมียดละไม ครบถ้วนทุกอย่าง”

สำหรับประเภทรวมเรื่องสั้น เรื่อง “ออกไปข้างใน” ของ นฆ ปักษนาวิน ก็คว้ารางวัลชนะเลิศไปได้อย่างงดงาม ซึ่ง นายประภัสสร เสวิกุล ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทรวมเรื่องสั้น ได้อธิบายถึงความเหมาะสมว่า

“เรื่องออกไปข้างในของคุณนฆ ปักษนาวิน เป็นงานที่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องตัวเรื่อง เรื่องสถานที่ เทคนิคการเล่าเรื่อง มีความคิดที่ทันสมัย ชวนให้ตีความได้หลายอย่างด้วยกัน โดยผ่านการเรียนรู้ของผู้เล่าและมุมมองที่แปลกใหม่ รวมทั้งการสร้างสรรค์เนื้อหาสาระที่ผูกพันกับประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม ชีวิต และภาวะทางจิตใจของปัจเจกบุคคลโดยไม่ตั้งคำถาม หรือต้องการคำตอบที่ชัดเจน แต่ก็ให้ความคิดคำนึง เรื่องราวบางอย่างเป็นสิ่งที่สังคมรับทราบอยู่แล้ว เช่น เหตุการณ์ทางการเมืองในยุค พ.ศ.2516-2519 แต่ผู้เขียนก็ใช้ลีลาการเขียนที่แตกต่างออกไปจากเดิม เป็นศิลปะที่มีวรรณศิลป์ ทำให้เกิดเสน่ห์ในงานเขียนชิ้นนี้

ผู้เขียนได้ฉายภาพมุมกว้างเพื่อมองเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ให้เห็นความโดดเดี่ยวท่ามกลางความสับสนอลหม่าน เห็นอุดมคติท่ามกลางความไร้สาระของสังคมที่เชื่อมโยงอยู่ข้างหลัง”

และกวีนิพนธ์คืออีกประเภทหนึ่งที่มีผลงานชนะเลิศ คือ “รากของเรา เงาของโลก” ของ สุขุมพจน์ คำสุขุม ซึ่ง รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร รองประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทกวีนิพนธ์ ได้กล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ว่าสะท้อนชีวิตชาวชนบทที่ดิ้นรนเข้ามาทำมาหากินในเมืองหลวงอย่างเห็นภาพ

“บทกวีเรื่องนี้โดดเด่นเพราะมีการนำเสนอแนวคิดที่คมคายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนบทอีสาน ผสมผสานกับความเปลี่ยนของชีวิตคนอีสานที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวง และเป็นชีวิตของผู้คนในสังคมไทย ลีลาการประพันธ์นั้นเรียบง่าย ใช้ภาษาพูดและภาษาถิ่นอีสานในการแต่งบทกวี ทำให้อ่านสนุกสนานชวนติดตาม และนำเสนอแนวคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างแหลมคม มีรูปธรรม ทำให้หนังสือเล่มนี้ลุ่มลึกด้านแนวคิด และวิจิตรในลีลาวรรณศิลป์

เนื้อหาแบ่งเป็นสองตอน ตอนแรกคือรากของเรา ผู้เขียนได้ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตในพื้นถิ่นบ้านเกิดภาคอีสาน ว่ามีความผูกพันในครอบครัว และนับถือการทำมาหาเลี้ยงชีวิตของชาวอีสาน ซึ่งชาวอีสานประกอบด้วย ไทยอีสาน ชาติพันธุ์อื่นๆ ทั้งไทยลาว เผ่าไทยต่างๆ วิถีชีวิตของชนบทอีสานต้องฝ่าฟันต่อสู้กับอุปสรรคทางธรรมชาตินานาประการ แต่เขาก็ยังรักครอบครัวและมีความสุขกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย

ในตอนที่สองเป็นเงาของโลก คือโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคโลกาภิวัตน์ แล้วชีวิตของคนอีสานต้องอพยพไปอยู่ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้ยากไร้ เช่น ขอทานที่ต้องมาขอทานเลี้ยงชีพในเมือง สาวอีสานที่ต้องเขามาทำมาหากิน หนุ่มอีสานที่ต้องมาใช้แรงงาน แต่ใช่ว่าชีวิตในเมืองหลวงจะนำมาซึ่งความสุข ผู้เขียนเหมือนจะบอกว่าชีวิตในกรุงเทพฯไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาใฝ่ฝัน

ที่น่าสนใจมากคือผู้เขียนล้อเล่นกับการประเมินค่าทางเศรษฐกิจเรื่อง GDP หรือที่เรียกว่าความสุขมวลรวมของประชาชาติ แต่ผู้เขียนใช้คำว่า ความสุขมวลรวมฉบับสามัญชน บอกว่า GDP หมายถึงจึงดีพอ หมายความว่าชีวิตที่เรียบง่าย อยู่อย่างพอมีพอกิน เจือจุนซึ่งกันและกัน รู้จักประมาณตนนั้นคือความสุขของประชาชน นี่คืองานเขียนที่ทั้งสร้างสรรค์และวิพากษ์วิจารณ์สังคม”

นอกจากรางวัลชนะเลิศทั้งสามประเภท ยังมีผลงานที่ได้รับรางวัลอื่นๆ อีก ดังนี้

ประเภทสารคดี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง คำจีนสยาม ของ วรศักดิ์ มหัทธโนบล จากสำนักพิมพ์อมรินทร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง คำสารภาพสุดท้ายก่อนเข้าห้องประหาร ของ ภุมริน ภมรตราชูกุล จากแพรวสำนักพิมพ์

ประเภทนวนิยาย ไม่มีผลงานได้รางวัลชนะเลิศ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มีสองรางวัลคือ เรื่อง เสือล่องวารี ของ อุเทน วงศ์จันดา จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพิมพ์ Way of book และเรื่อง รุสนี ของ มนตรี ศรียงค์ จากสำนักพิมพ์สามัญชน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง เรื่องเล่าในโลกลวงตา ของ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ประเภทกวีนิพนธ์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง แม่น้ำเดียวกัน ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ จากสำนักพิมพ์ในดวงใจ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง โลกใบเล็ก ของ พลัง เพียงพิรุฬห์ จากสำนักพิมพ์ White Monkey publishing

ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ไม่มีผลงานได้รางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง แต่กี้ แต่ก่อน ของ ประพิศ คุณาวุฒิ จากสำนักพิมพ์เพื่อนดี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง ลูกยางกลางห้วย ของ คามิน คมนีย์ จากสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์

ประเภทรวมเรื่องสั้น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม ของ นทธี ศศิวิมล จากแพรวสำนักพิมพ์

ประเภทนิยายภาพ (การ์ตูน) ไม่มีผลงานได้รางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง เส้นทางนักรบ ของ ศักดา วิมลจันทร์ จากโครงการกตัญญูกตเวที สองศรีพระศาสนา วัดชลประทานรังสฤษฎิ์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง บุญโฮม คนป่วง ของ เรืองศักดิ์ ดวงพลา จากสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก โดยสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก และเรื่อง D Day ของ Art Jeeno จากสำนักพิมพ์แซลมอน

ประเภทนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนวนิยายขนาดสั้น ไม่มีผลงานได้รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง โนนสวรรค์ ของ ภักดี ไชยหัด

หมวดกวีนิพนธ์ ไม่มีผลงานชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง กานท์เอ๋ย กานเมือง ของ โอรสิทธิ์

หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน) รางวัลชนะเลิศ เรื่อง สู่ทางแห่งความฝัน On the way dream ของ ปัทมพร ชัยศุภกิจสินธ์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง บัว 4 เหล่า เรา 4 คน ของ กฤษญา มิ่งมหาพันธ์, ฐิติรัตน์ ฉัตรชวินพร, ธัญลักษมณ์ กิตติถิระพงษ์ และนันท์ธิกานต์ อัครพัฒน์โสภณ

สำหรับพิธีมอบรางวัลประกวดหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 10 ประจำปี 2556 มีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคมนี้