​3 นักวิจัยรุ่นกลางพิชิตเงินแสน ประชันไอเดียขายงานโดนใจ​​​​​​

0
428
image_pdfimage_printPrint

ครั้งแรกของเมืองไทยกองทุนนิวตัน บริติช เคานซิล จับมือ สกว. จัดเวทีให้นักวิจัยรุ่นกลางมาประชันขายงานวิจัยให้โดนใจกรรมการภายใน 5 นาทีภายใต้โจทย์แก้ปัญหาของประเทศและสังคมในมุมกว้าง หวังกระตุ้นให้สื่อสารงานวิจัยที่สร้างแรงกระเพื่อมและเกิดการเปลี่ยนแปลง ผล 3 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมและมนุษยศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ คว้าเงินแสนไปครอง

3 มีนาคม 2560 — กองทุนนิวตัน บริติช เคานซิล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกันจัดการแข่งขันประชันนำเสนองานวิจัยให้โดนใจกรรมการภายใจ 5 นาที ชิงทุนวิจัย 300,000 บาท ณ ห้องประชุม สกว. โดยมี 12 นักวิจัยจากโครงการพัฒนาความเชี่ยวชาญสำหรับนักวิจัยรุ่นกลางร่วมประชันนำเสนอไอเดียและผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของประเทศไทยและสังคมในมุมกว้าง
รศ. ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. กล่าวว่า การจัดเวทีในครั้งนี้มุ่งหวังส่งเสริมให้นักวิจัยสามารถสื่อสารงานวิจัยที่สร้างแรงกระเพื่อมและความเปลี่ยนแปลงบนโลกให้กระชับและเข้าใจง่าย โครงการนี้เป็นโครงการฝึกอบรมต่อเนื่องระยะเวลา 3 ปี มีนักวิจัยเข้าร่วมกว่า 50 คน ในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ และถูกคัดเลือกจนเหลือ 12 คนเข้ามาประชันในรอบสุดท้าย โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย รศ. ดร. อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายสำนักงานผู้อำนวยการ สกว. ศ. ดร. สมชาย วงศ์วิเศษ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศ. ดร. นพ. นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล Mr. Martin Hart-Hansen, Deputy Resident Representative, United Nations Development Programme และ ดร. วิไลพร เจตนจันทร์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
ขณะที่มาร์ค วอร์คเกอร์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก บริติช เคานซิล ระบุว่า รางวัล Research Pitch ในวันนี้เปิดโอกาสให้นักวิจัยก้าวออกมาจากห้องแล็บและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานวิจัยให้คนอื่นได้ฟังด้วยวิธีที่สั้นและกระชับ ในวันนี้เรามองหานักวิจัยที่สามารถฟื้นชีวิตให้กับงานวิจัย และทำให้เรื่องนี้เข้าถึงผู้คนเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในทางที่ดีขึ้น บริติช เคานซิลพร้อมที่จะสนับสนุนงานวิจัยอย่างรอบด้านเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศให้ดีขึ้นพร้อมกับมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
สำหรับผู้ที่คว้าทุนทั้ง 3 ท่านรวมมูลค่า 300,000 บาทไปครอง คือ รศ. ดร. เทวัญ จันทร์วิไลศรี อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับหัวข้องานวิจัย “ปราบการติดเชื้อด้วยการสู้กับเชื้อดื้อยา (Clostridium difficile)” ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งการติดเชื้อนั้นจะส่งผลต่อระยะเวลาการรักษาที่นานขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตให้มากขึ้นตามไปด้วย โดยงานวิจัยนี้จะเป็นการศึกษากลไกการดื้อยาเพื่อพัฒนาแนวทางการรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในปัจจุบัน ผศ. ดร. พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกับหัวข้องานวิจัย “ปัญหาคอร์รัปชั่นและการพัฒนาการเมืองในประเทศไทย” โดยดูจากกรณีศึกษาเงินสนับสนุนพรรคการเมือง วิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการใช้เงินงบประมาณกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองของประเทศไทย และแนวทางการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและพัฒนาพรรคการเมืองให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน และ ผศ. ดร. สุรภา เทียมจรัส นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เจ้าของหัวข้อ “รู้เร็วไวแก้ไขทันท่วงทีกับระบบเซนเซอร์สำหรับผู้ป่วยและผู้สูงวัย” โดยงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล สหราชอาณาจักร ในการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะของผู้สูงวัยและผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากการตรวจจับสัญญาณแล้วอุปกรณ์นี้จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลและส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ดูแลเพื่อลดอันตรายและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อชีวิต

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
สริตา สุวรรณรัตน์
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร
บริติช เคานซิล ประเทศไทย
อีเมล: sarita.suwannarat@britishcouncil.or.th
โทร: 063 231 0912
พิชิต พรหมเกศ
ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
บริติช เคานซิล ประเทศไทย
อีเมล: pichit.phromkade@britishcouncil.or.th
โทร: 081 802 7906