“ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย” เผยการเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้าทั่วโลก ใช้ทั้งภาพสามมิติ โฮโลแกรม เสียงและกลิ่น

0
572
image_pdfimage_printPrint

ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องหมายการค้าจากสหภาพยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมพูดคุยถึงสภาพการณ์ของแวดวงเครื่องหมายการค้าโลกในการประชุมที่กรุงเทพฯ

สหภาพยุโรป (EU) และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO) กำหนดจัดการประชุมเรื่องเครื่องหมายการค้าในระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2562 ที่กรุงเทพมหานครฯ โดยงานครั้งนี้อยู่ภายใต้แผนงาน ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย (IPKey South-East Asia) ซึ่งเป็นแผนงานที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป
ปัจจุบัน บรรดาเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้พัฒนาเครื่องหมายการค้ารูปแบบใหม่ที่มิใช่รูปแบบดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของตนเอง ทำให้สำนักงานเครื่องหมายการค้าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของสภาพการณ์เครื่องหมายการค้าทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกัน เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงยังจำเป็นต้องได้รับการปกป้องอย่างต่อเนื่อง มิใช่เฉพาะจากการล่วงละเมิดเท่านั้น แต่รวมถึงการจดทะเบียนที่ไม่สุจริต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องหมายการค้าจะร่วมพูดคุยกันในการประชุมเรื่องเครื่องหมายการค้าของแผนงาน ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย ครั้งนี้

การประชุมระยะเวลา 2 วันนี้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการตรวจสอบเครื่องหมายการค้า การปกป้องและการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการปฏิบัติงานด้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำเสนอหัวข้อที่เป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ปฏิบัติงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ การปกป้องเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง มาตรการป้องกันการจดทะเบียนโดยไม่สุจริต การตรวจสอบเครื่องหมายการค้าที่มิใช่รูปแบบดั้งเดิม การตรวจสอบเครื่องหมายการค้าตามระดับศักยภาพ ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับเจ้าของเครื่องหมายการค้าและนักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันที่ระบบดิจิทัลกำลังแพร่หลายเป็นอย่างมาก
นายฟิลิปป์ ดูปุย หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการค้าแห่งคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของเครื่องหมายการค้าว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง “เครื่องหมายการค้าถือว่ามีความสำคัญอย่างชัดเจนจากข้อมูลการศึกษาของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปและสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป ซึ่งระบุว่าอุตสาหกรรมที่เข้มงวดกับทรัพย์สินทางปัญญา สามารถสร้างงานได้ 29.2% ของงานทั้งหมดในสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 -2016 โดย 22% เป็นงานในอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องหมายการค้าอย่างเคร่งครัด”

การประชุมครั้งนี้จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องหมายการค้าทั้งจากสหภาพยุโรป สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านวิชาการและนักธุรกิจ นักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) และ สมาคมเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ (International Trademark Association : INTA)

ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย (IPKey South-East Asia) เป็นแผนงานที่ไดรับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป บริหารงานโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office: EUIPO) มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมมาตรการด้านสิทธิ์ของทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

# # # #