กรุงเทพฯ – 7 มิถุนายน 2555 – ไอบีเอ็มร่วมมือกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยในโครงการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีเพื่อนำกรุงเทพฯ ไปสู่การเป็นเมืองแรกของโลกที่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีรายใหม่ให้เข้าใกล้ศูนย์ หรือ “Getting to Zero” โดยการนำเทคโนโลยีบิสสิเนสอนาลิติกส์มาช่วยให้ศูนย์วิจัยฯ สร้างยุทธศาสตร์และวิธีการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการดูแลรักษาและช่วยเหลือผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี รวมทั้งดำเนินกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชนในการป้องกันการติดเชื้อและการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ ตลอดจนทำงานวิจัยด้านการรักษาและป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ได้ร่วมมือกับไอบีเอ็มในการใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูงหรือบิสสิเนสอนาลิติกส์ (Business Analytics) จากไอบีเอ็มมาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมศักยภาพของศูนย์วิจัยฯ ในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวี อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้ร่วมกับหน่วยงานภาคีของศูนย์วิจัยฯ เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงเทพฯ ให้เข้าใกล้ศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของโครงการรณรงค์ระดับโลก “Getting to Zero in 2015” โดย UNAIDS ที่รัฐบาลประเทศไทยได้ประกาศให้การสนับสนุนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีถือเป็นภัยคุกคามอันดับต้นๆ ของสังคมไทย ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีประมาณ 500,000 คน โดยมีอัตราการติดเชื้อใหม่เพิ่มมากถึง 16,000 คนต่อปี อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคและเข้ารับการรักษา ซึ่งส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและการติดเชื้อในรายใหม่ใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ภายใต้โครงการความร่วมมือกับไอบีเอ็มนี้ ศูนย์วิจัยฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไอบีเอ็มนำความเชี่ยวชาญของบุคคลากรและเทคโนโลยีชั้นสูงมาช่วยให้ศูนย์วิจัยฯ สามารถสร้างฐานข้อมูลข้อมูลเชิงพฤติกรรมของกลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้จริงในการวางแผนการป้องกันการแพร่ระบาดแบบเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ยังช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะในด้านเทคโนโลยีให้กับบุคคลากรของศูนย์วิจัยฯ”
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อสังคม ที่ได้แสดงวิสัยทัศน์สมาร์ตเตอร์ แพลนเน็ต (Smarter Planet) ของไอบีเอ็มอย่างชัดเจนในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในสังคมไทย ความร่วมมือกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “IBM Think for Community” ที่ไอบีเอ็มประเทศไทยได้ริเริ่มขึ้นในโอกาสที่บริษัท ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่นส์ฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งบริษัทในปีที่ผ่านมา โดยมีพนักงานไอบีเอ็มเข้าร่วมส่งโครงการอาสาสมัครทำงานเพื่อประกวดทั้งสิ้นกว่า 40 โครงการ
“เรามีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่พนักงานของเราได้นำความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญมาร่วมทำงานกับศูนย์วิจัยฯเพื่อร่วมสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมไทย และได้นำเทคโนโลยีบิสสิเนส อนาลิติกส์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแนวทางให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวี รวมไปถึงการสร้างศักยภาพให้แก่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานระดับแนวหน้าที่ทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง อันถือเป็นวิธีการทำงานพัฒนาสังคมแบบยั่งยืนของไอบีเอ็ม”
ไอบีเอ็มได้นำความเชี่ยวชาญของบุคคลากรและเทคโนโลยีมาสนับสนุนโครงการของศูนย์วิจัยตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามดังกล่าวโดยใช้ซอฟท์แวร์ไอบีเอ็มดีบีทู (IBM DB2) ในการสร้างฐานข้อมูล ซึ่งช่วยลดเวลาในการค้นหาและรวบรวมข้อมูลของบุคคลากรได้จากระยะเวลา 2 เดือนเหลือเพียง 5 นาที และพัฒนาระบบการแสดงผลข้อมูลโดยใช้ซอฟต์แวร์ค็อกนอส (COGNOS) ที่ช่วยในการวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามออนไลน์ที่ไอบีเอ็มได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นช่องทางการเก็บข้อมูลรูปแบบการใช้ชีวิตของกลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซอฟท์แวร์ของไอบีเอ็มจะวิเคราะห์ข้อมูลและแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มพฤติกรรมของกลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะแสดงอยู่ในรูปแบบตารางและแผนที่ ช่วยให้ศูนย์วิจัยฯ มีข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real time)
ด้วยเทคโนโลยีบิสสิเนสอนาลิติกส์ของไอบีเอ็ม จะช่วยให้ศูนย์วิจัยฯ มีข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่ครบถ้วนและสามารถใช้ในการตัดสินใจและการสร้างแผนยุทธศาสตร์ในการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีแบบเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมไปถึงการออกแบบเนื้อหาการให้ความรู้เรื่องการป้องกันการติดเชื้ออย่างสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของกลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจริงๆ นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการขอทุน และรายงานผลการวิจัยต่อแหล่งทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ด้วย