1

ไอทีดี ชี้ ไทยได้เปรียบใน ACIA

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา หรือ ไอทีดี ชี้ ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน หรือ ACIA ไทยมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง โดยเฉพาะความพร้อมในภาพรวมของประเทศ นักลงทุนไทย และหน่วยงานภาครัฐ ควรศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างถูกต้อง

M-2

 

      ดร.วัชรัศมิ์  ลีละวัฒน์  รองผู้อำนวยการวิชาการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา หรือ ไอทีดี เปิดเผยว่า ผลงานวิจัยเรื่อง “ โอกาสและอุปสรรคการลงทุนภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน “ หรือ ASEAN Comprehensive Investment Agreement : ACIA ที่สถาบันไอทีดี ทำร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ชัดว่า ไทยค่อนข้างได้เปรียบ ตามความตกลงด้านการค้าและการลงทุนฉบับนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งที่ดีกว่ากลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงอินโดนีเซียอย่างเห็นได้ชัด และยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่ดีกว่าประเทศในกลุ่ม CLMV และอินโดนีเซียมาก หากพิจารณาจากความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ   

“ ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน หรือ ACIA เปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านโดยมีหลักประกันที่มั่นคงมากขึ้นและเสริมสร้างให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นฐานรองรับการลงทุนที่ครบวงจรมากขึ้น รองรับเงินลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นทั้งจากอาเซียนด้วยกันเองและต่างชาติ การจ้างงานที่มากขึ้น การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาคุณภาพของแรงงาน การพัฒนาโครงข่ายสาธารณูปโภค เป็นต้น สิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ คือ การเร่งเสริมสร้างความเข็มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถของตนเองให้พร้อมแข่งขันในตลาดโลก และพยายามใช้ความตกลงต่างๆ เหล่านี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ” ดร.วัชรัศมิ์ กล่าว

 

ทั้งนี้  ASEAN Comprehensive Investment Agreement ( ACIA ) หรือที่เรียกว่า     ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน เป็นความตกลงระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย บรูไน ดารุสซาลาม  กัมพูชา  ฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย  สปป.ลาว  มาเลเซีย  เมียนมาร์  สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย มีวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการสร้างให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีกฎระเบียบด้านการลงทุน (Investment Regime) ที่เปิดกว้างและเสรี (Open & Free) และในขณะเดียวกันจะช่วยเสริมให้เกิดการบูรณาการ (Integration) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านการลงทุน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญชิ้นหนึ่งในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN Economic Community – AEC ) ในปี 2015 โดยได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2009 ในการประชุมสุดยอดผู้นําอาเซียน ( ASEAN Summit ) ครั้งที่ 14 ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย และมีผลใช้บังคับพร้อมตารางข้อสงวน ( Schedule of Reservation List ) ของทั้ง 10 ประเทศสมาชิก เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2012

โดย ACIA จะประกอบไปด้วยหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ การเปิดเสรีการลงทุน              (Investment Liberalization) การคุ้มครองการลงทุน (Investment Protection) การอำนวยความสะดวกและความร่วมมือ (Facilitation and Cooperation) และการส่งเสริมและสร้างความรับรู้ในด้านการลงทุน (Investment Promotion and Awareness) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อการเปิดเสรี

การปฏิบัติตามความตกลง ACIA จะสร้างโอกาสให้กับนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนยังประเทศสมาชิกอาเซียนจากแหล่งผลักดันในด้านต่างๆ และในขณะเดียวกัน การปฏิบัติตามความตกลงดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนไทยที่ยังไม่พร้อมที่จะแข่งขัน ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงให้ความสำคัญกับโอกาสและผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับภายใต้ข้อตกลง ACIA ตลอดจนเสนอแนะกลยุทธ์ และแนวทางการเจรจาการเปิดเสรีการลงทุนระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศอาเซียนที่เหมาะสม

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ทำการคัดเลือกอุตสาหกรรมที่จะศึกษาเพื่อให้คลอบคลุมโอกาสการลงทุนประเทศในอาเซียนอย่างน้อย 4 ประเทศ และมีปัจจัยสนับสนุนจากประเด็นต่างๆ รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายของ BOI ที่ให้ความสำคัญกับ 3 ประเทศในอาเซียน อันได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมาร์ ซึ่งประกอบด้วย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน

ผู้สนใจงานวิจัยฉบับเต็มสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันไอทีดี โทรศัพท์ 02-216-1894-7