ไทย-เยอรมัน ร่วมผลักดันการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ นำร่องโรงงานแอร์ ประหยัดค่าใช้จ่าย 500,000 บาทต่อเดือน

0
265
image_pdfimage_printPrint

นนทบุรี, 14 มิถุนายน 2560 – ยุคที่พลังงานจากแสงอาทิตย์มีราคาแพงได้หมดไปแล้ว “ตอนนี้เรากำลังใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ตอนนี้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์คุ้มค่าแล้วกับการลงทุน” นายไพรัตน์ เอื้อชูยศ ในฐานะประธานกรรมการบริษัทสตาร์ (ประเทศไทย) จำกัดและรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดโครงการโซลาร์รูฟท็อปไทย-เยอรมัน โรงงานสตาร์แอร์ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันใช้ไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาของโรงงานแทนการซื้อไฟฟ้าจากสายส่งไฟฟ้า ระบบมีขนาด 1 เมกะวัตต์ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงงานได้ประมาณ 500,000 บาทต่อเดือนโดยไม่ได้พึ่งพาโครงการสนับสนุนของรัฐบาล การคืนทุนของระบบลดลงจากระยะเวลาปกติ 7 ปีเหลือเพียง 3 ปีครึ่ง จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงานจึงได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี

ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงงานสตาร์แอร์เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่พิสูจน์ความคุ้มค่าการลงทุนให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ “ตอนนี้เราได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับโรงงานของพวกเขา” นายอภิรักษ์ เกตุมณี กรรมการผู้จัดการของบริษัท BISReZeca ซึ่งเป็นผู้ติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับบริษัทสตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “พวกเขาไม่ต้องการพลาดโอกาสในการประหยัดค่าใช้จ่ายและมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”

ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงงานสตาร์แอร์ เลือกใช้อุปกรณ์ที่ผลิตจากประเทศเยอรมนีซึ่งได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพและอายุการใช้งาน บริษัท BISReZeca และบริษัทสตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความสำคัญกับการเลือกพาร์ทเนอร์และอุปกรณ์ที่เหมาะสม เมื่อรวมความเชี่ยวชาญในการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์โดยบริษัทไทยเข้ากับอุปกรณ์จากประเทศเยอรมนีถือเป็นการรับประกันความสำเร็จของโครงการ โดยโปรแกรมพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน (PDP) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง ดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้ติดตั้งระบบติดตามประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเก็บข้อมูลปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงงานสตาร์แอร์ ทั้งนี้เจ้าของโรงงานและผู้พัฒนาโครงการเชื่อมั่นว่าจะมีการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

_____________________________________________________________________________
ข้อมูลถูกรวบรวมภายใต้โปรแกรมพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน (PDP) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งโปรแกรมฯ ดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในนามของกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWi) มีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภูมิภาคนี้ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจในประเทศเยอรมันและภาคธุรกิจในในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

GIZ เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 17,000 คน ซึ่งร้อยละ 70 เป็นคนในประเทศ