ไทยพัฒน์ ตั้งบอร์ดยั่งยืน ขับเคลื่อนวาระ “สังคม 2020”

0
224
image_pdfimage_printPrint

MAH5432888

สถาบันไทยพัฒน์ ตั้งคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และสานเครือข่ายการทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ทำงานเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล ภายใต้วาระ “สังคม 2020”

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เมื่อปี พ.ศ.2555 และได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการลงทุนทางสังคม โดยสำนักงานเลขาธิการว่าด้วยหลักการลงทุนทางสังคม ซึ่งเป็นความริเริ่มที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติ ได้แถลงถึงการจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Network Board (SDNB) ในวันนี้ (29 ก.ย.) เพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานส่งเสริม สนับสนุน และสานเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในกรอบระยะเวลา 5 ปีแรก (พ.ศ.2559-2563) ภายใต้วาระสังคม 2020 หรือ Society 2020
คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ “บอร์ดยั่งยืน” ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ และสื่อมวลชน รวมทั้งสิ้น 7 ท่าน โดยมีสถาบันไทยพัฒน์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ
คุณศิริชัย สาครรัตนกุล ประธานกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวถึงการจัดตั้งบอร์ดยั่งยืนในครั้งนี้ ว่า “ผมหวังว่าการขับเคลื่อนในครั้งนี้ จะเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญอีกก้าวหนึ่ง ในกระบวนการพัฒนา CSR ในประเทศไทย ในฐานะที่ผมได้มีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จึงมีความยินดีที่จะมีส่วนร่วมในการทำงานของบอร์ดยั่งยืนนี้ โดยเฉพาะการประสานงานกับองค์กรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเรื่อง CSR ด้วยกัน”
ดร.วัฒนา โอภานนท์อมตะ รองประธานกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวถึงแผนในการทำงานเชื่อมโยงกับภาคสังคมว่า “บอร์ดยั่งยืนที่จัดตั้งขึ้นนี้ มีความตั้งใจที่จะใช้เป็นกลไกในการประสานให้เกิดพลังร่วมระหว่างภาคธุรกิจกับภาคสังคม และหน่วยงานต่างๆ โดยใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ที่เรียกว่า CSR-in-Process เป็นพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาเพื่อให้ตอบสนองต่อประโยชน์ของสังคมในมิติต่างๆ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กร ของสังคม ของประเทศ ตลอดจนของประชาคมโลกด้วย”
ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปของคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งนี้ว่า “จะประสานความร่วมมือกับเครือข่ายที่มีศักยภาพ เพื่อดำเนินการให้เกิดผล 3 ลักษณะ คือ ส่งเสริม-สนับสนุน-ยกย่อง ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยในแง่ของการส่งเสริม ประกอบด้วย การสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างเสริมกิจกรรมการแบ่งปันและพัฒนาความรู้ ความคิดกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง การจัดกลุ่มผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นแหล่งให้คำปรึกษาและพัฒนาเครือข่ายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ในแง่ของการสนับสนุน ประกอบด้วย การสร้างเครื่องมือทางวิชาการและแนวปฏิบัติเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และปฏิบัติของเครือข่าย การติดตามและรวบรวมข้อมูลกรณีศึกษา ตัวอย่างความสำเร็จดำเนินงานที่สร้างคุณค่าใน 3 มิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ของเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่วนในแง่ของการยกย่อง เป็นการนำเสนอตัวอย่างที่ดีของเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นแบบอย่างนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ เป็นต้น”
ดร.สุนทร คุณชัยมัง กรรมการผู้จัดการบริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น กล่าวถึงการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนกับชุมชนและส่วนราชการท้องถิ่นว่า “ในช่วง 10 ปีหลังนี้ แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนได้รุกคืบไปยังพื้นที่ของชุมชนและท้องถิ่นอย่างมีลึกซึ้งใน 2 มิติ ด้วยกัน คือ มิติที่เป็น Social movement ซึ่งเป็นการต่อต้านการขยายเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริโภคนิยมที่นับวันจะเข้มข้นมากขึ้น กับมิติที่เป็น Collaborative governance หรือด้านที่เป็นการจัดการความร่วมมือของการจัดการร่วมกันของหลายภาคส่วน ที่จะนำพาทั้งการผลักดันแนวคิดและการแปลผลนโยบายใหม่ๆ ไปสู่การปฏิบัติ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องหลังนี้ ก็คือ การทำงานร่วมกันตามนโยบายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัด 5 นำร่อง ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เป็นต้น”
คุณสุกิจ อุทินทุ รองประธานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ กลุ่มบริษัทไมเนอร์ กล่าวถึงความริเริ่มที่จะผลักดันความร่วมมือในภาคเอกชนว่า “เครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ปัจจุบันภาคเอกชนต่างพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการดำเนินการอย่างกว้างขวางในหลายๆ ด้าน แต่เมื่อดูภาพรวม จะเห็นว่า ทำกันเป็นจุดๆ ต่างคนต่างทำ ทำให้ขาดผลสัมฤทธิ์ และไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายได้ ดังนั้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือลักษณะนี้ จะทำให้ภาคเอกชนได้มีกลไกที่ทำงานร่วมกันให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด และมีพลัง ทั้งยังสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการบูรณาการ และทำงานขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมเห็นผลชัดเจน สอดคล้องกับแผนพัฒนาในระดับประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล”
รองศาสตราจารย์ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ ประธาน CSR พอเพียง คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงบทบาทของการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาว่า “ในฐานะอาจารย์ด้านบริหารธุรกิจ ดิฉันได้เห็นความสำคัญของการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และได้มีส่วนร่วมในการทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 อาทิ การจัดตั้งชมรมรักธุรกิจ รักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ถึงการเป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การริเริ่มจัดทำหลักสูตรวิชาการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจเป็นมหาวิทยาลัยแรก รวมทั้งการจัดทำคู่มือแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดจนการจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (พ.ศ.2558-2560) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ
ดิฉันเชื่อและมั่นใจว่า การผลักดันและส่งเสริมให้มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ภาคการศึกษาได้ทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จะช่วยบ่มเพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติได้เป็นอย่างดี”
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวในฐานะกรรมการและเลขานุการของบอร์ดยั่งยืนว่า “Mandate ในการทำงานของบอร์ดชุดนี้ มุ่งหวังตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development ซึ่งครอบคลุมในระดับสังคมโดยรวม อันมีขอบข่ายที่กว้างกว่าโจทย์การพัฒนาความยั่งยืน หรือ Sustainability Development ซึ่งมีจุดเน้นอยู่ที่ระดับองค์กรหรือห่วงโซ่ธุรกิจเป็นสำคัญ”

การทำงานตามวาระสังคม 2020 จะขับเคลื่อนในรูปของกลุ่มความร่วมมือผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (Multi-Stakeholder Group) เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยจะเชิญชวนหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 ในกรอบเวลา 5 ปีแรก (พ.ศ.2559-2563) และจะมีการประเมินการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาสู่การขับเคลื่อนในกรอบเวลา 10 ปี (พ.ศ.2564-2573) ตามวาระสังคม 2030 ในระยะต่อไป

สถาบันไทยพัฒน์ ได้รับการรับรองเป็นองค์กรในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 จากสมัชชาสหประชาชาติ ให้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNCSD) หรือ Rio+20 ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในปี พ.ศ.2555 ซึ่งในที่ประชุมครั้งนั้น ชาติสมาชิกทั้ง 193 ประเทศ ได้ให้ความเห็นชอบในเอกสารผลลัพธ์ (Outcome Document) ที่ใช้ชื่อว่า “The Future We Want” โดยหนึ่งในเรื่องหลักที่มีการให้ความเห็นชอบ คือ การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) แทนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งถูกใช้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2558 นี้
คณะทำงานของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Open Working Group on SDGs) ได้ใช้เวลาปีเศษในการหารือและจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จนกระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกันจากชาติสมาชิก 193 ประเทศ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภายใต้เอกสารผลลัพธ์ ที่ใช้ชื่อว่า “Transforming our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development”
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 17 เป้าประสงค์ (Goals) และ 169 เป้าหมาย (Targets) ที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้ถูกรับรองในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน พ.ศ.2558 ณ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และเริ่มต้นใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของนานาประเทศนับจากนี้ จวบจนปี พ.ศ.2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี

**********************************

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันไทยพัฒน์ – คุณปิยเลขา ไหล่แท้ โทร 0 -2930- 5227