ไทยผนึกกำลังนานาชาติ ลดขยะพลาสติกในทะเล

0
310
image_pdfimage_printPrint

กรุงเทพฯ 13 พฤศจิกายน 2562 – 7 ประเทศในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย สหภาพยุโรป (EU) และรัฐบาลเยอรมนี ประสานความร่วมมือในการลดขยะพลาสติกและขยะทะเล ผ่านการเปิดตัว “โครงการ ส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล” โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 ท่านจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ทั้งนี้โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านยูโร (ราว 336 ล้านบาท) จาก EU และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งหมด 3 ปี (พ.ศ.2562-2565)

บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือสินค้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว มีส่วนทำให้เกิดขยะทะเลจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและการประมง รวมถึงภาคการท่องเที่ยว “เราจำเป็นต้องผนึกกำลังความร่วมมือของเรา” นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานความร่วมมือหลักของโครงการฯ กล่าว “กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำRoadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และเราจะร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายของ Roadmap ในประเทศไทยเพิ่มเติม เราหวังว่าประเทศไทยจะได้รับองค์ความรู้และการสนับสนุนจากโครงการฯ เพื่อมาดำเนินการกับ Roadmap นี้”

ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “สหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศไทย จีน อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ในโครงการฯ ด้วยแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน และยุทธศาสตร์ยุโรปเพื่อจัดการพลาสติก เราจึงพร้อมก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการออกแบบ การใช้ และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ขยะพลาสติกลงสู่ทะเล โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนและการปฏิบัติงานระดับโลก และผมเชื่อมั่นว่าเราสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ของแต่ละประเทศร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างกำลังความร่วมมือในการลดขยะพลาสติก”

“ความท้าทายระดับโลก ซึ่งรวมถึงปัญหาขยะในทะเล ต้องการแรงสนับสนุนจากทั่วโลก” ฯพณฯ นายเกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยกล่าว “ประเทศเยอรมนีมีความร่วมมือกับประเทศไทยมายาวนานและประเทศภาคีอื่นๆ รวมทั้งเรายังสนับสนุนให้มีการจัดการขยะอย่างยั่งยืนและการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ทั่วโลก กิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความความร่วมมือมากขึ้น ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เราต้องมุ่งเน้นไปที่การหลีกเลี่ยง การรวบรวม การรีไซเคิลและการทิ้งขยะพลาสติกไปพร้อมกัน แทนที่จะปล่อยขยะต่างๆ เหล่านี้ลงสู่ทะเล จุดมุ่งหมายที่สำคัญของเราก็คือ พลาสติกจะต้องลดลง ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิล ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล เราจะสามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกตามเป้าที่เราวางไว้แน่นอน”

นายอาวาโร ซุริตา ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการร่วมกับ Expertise France ชี้แจงขอบเขตการดำเนินงานของโครงการฯ ว่า “โครงการฯ จะให้คำปรึกษาและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งครอบคลุมเรี่องการจัดการขยะพลาสติก การบริโภคและการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน การลดปริมาณขยะ ณ แหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเล ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำหรือขยะที่มาจากเรือ นอกจากนี้เรายังสนับสนุนโครงการนำร่อง เพื่อเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดี และเรามีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม”

ภายหลังจากการกล่าวพิธีเปิด ได้มีการจัดเวทีเสวนากลุ่มที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนของประเทศในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานและการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป เพื่อจัดการกับปัญหาขยะทะเลและลดขยะพลาสติกร่วมกับโครงการฯ

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอ “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและพลาสติก: การวิเคราะห์ช่องว่างในประเทศสมาชิกอาเซียน”การวิเคราะห์ช่องว่างเป็นผลจากความร่วมมือของสหภาพยุโรปและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในเรื่องปัญหามลพิษพลาสติก ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการจัดการขยะทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

—————————————————
รายละเอียดโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล
โครงการฯ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การบริโภคและการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้สามารถลดปริมาณขยะในทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป (EU) และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และดำเนินโครงการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และ Expertise France ประเทศภาคีประกอบไปด้วยประเทศจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม ในประเทศไทยโครงการฯ ดำเนินงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม