ในวันที่ 26 มกราคม 2018 ไดซาขุ อิเคดะ นักพุทธปรัชญา และประธานสมาคมสร้างคุณค่าสากล หรือเอสจีไอ (Soka Gakkai International: SGI) ได้เผยแพร่ข้อเสนอเพื่อสันติภาพประจำปีในหัวข้อ “สู่ยุคแห่งสิทธิมนุษยชน: สร้างการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน”
อิเคดะขานรับการลงมติเห็นชอบสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 โดยมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์โลก ในเรื่องของความพยายามในการสร้างสันติภาพและการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมกับย้ำว่าตราบใดที่ยังมีอาวุธนิวเคลียร์ สันติภาพและสิทธิมนุษยชนโลกจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ เขาได้แจกแจงกลยุทธ์เรียกร้องให้ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และประเทศที่ต้องพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์หันมาสนับสนุนสนธิสัญญาดังกล่าว
ที่สำคัญคือ อิเคดะได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นประกาศความพร้อมในการพิจารณาเข้าร่วมสนธิสัญญา TPNW “ญี่ปุ่นเคยเผชิญความจริงของอาวุธนิวเคลียร์มาด้วยตัวเอง จึงไม่ควรเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบทางศีลธรรม” ขณะเดียวกัน เขาขอให้ทุกคนอย่าลืมจิตวิญญาณของฮิบากุฉะ หรือเหยื่อของระเบิดนิวเคลียร์ ผู้มีบทบาทสำคัญร่วมกับกลุ่มรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ (ICAN) ในการร่างและผลักดันการใช้สนธิสัญญาดังกล่าว จนกลุ่ม ICAN ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2017
หัวใจหลักของข้อเสนอเพื่อสันติภาพประจำปีครั้งที่ 36 ของอิเคดะคือ แนวทางที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนคือกุญแจในการแก้ไขปัญหาต่างๆทั่วโลก รวมถึงภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ สำหรับปีนี้ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 70 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เขาได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการให้ความสำคัญสูงสุดกับชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล รวมถึงความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าในตัวเองและไม่มีใครแทนใครได้
เขาได้กล่าวยกย่องฮิบากุฉะและความมุ่งมั่นของคนกลุ่มนี้ในการแสดงให้เห็นว่า ไม่ควรมีใครต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานแบบที่พวกเขาเคยเจอ และระบุว่าเป็นตัวอย่างของจิตวิญญาณแห่งสิทธิมนุษยชน “กฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลในอุดมคติคือ การแสวงหาหนทางในการคุ้มครองชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล ซึ่งหมายความว่าไม่มีที่ให้กับการแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์”
อิเคดะได้เน้นย้ำถึงพลังของการให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อก้าวข้ามการแบ่งแยกในสังคม โดยระบุว่าหัวใจสำคัญที่แท้จริงอยู่ที่การเต็มใจยอมรับความเป็นมนุษย์ของคนที่แตกต่างจากเรา เขาเสนอให้เยาวชนเป็นจุดสนใจสำคัญของโครงการให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนโลกระยะที่ 4 ของสหประชาชาติ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปี 2020
ข้อเสนอของอิเคดะยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับชีวิตและสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติ เขาได้เรียกร้องให้มีความพยายามในการรับประกันว่า ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่เป็นเด็กจะได้รับการศึกษา โดยเฉพาะเด็กๆที่พลัดพรากจากครอบครัว
เพื่อผลักดันความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ อิเคดะเสนอให้มีการกระชับความร่วมมือระหว่างจีนและญี่ปุ่น ผ่านการสร้างเครือข่ายระดับรัฐบาลท้องถิ่นว่าด้วยการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ อิเคดะยังมองว่าความเท่าเทียมทางเพศเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยกล่าวว่า “ความเท่าเทียมทางเพศและการเพิ่มพลังของสตรีไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ควรมองว่าเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายทั้งหมด”
สุดท้ายนี้ อิเคดะได้เรียกร้องให้ทศวรรษสากลแห่งการเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี 2020-2030 เป็นช่วงเวลาที่ควรบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
สมาคมสร้างคุณค่าสากล หรือเอสจีไอ คือเครือข่ายชุมชนที่ส่งเสริมสันติภาพและมนุษยนิยมแบบชาวพุทธ โดยมีสมาชิก 12 ล้านคนทั่วโลก ไดซาขุ อิเคดะ ประธานเอสจีไอ (1928-ปัจจุบัน) เผยแพร่ข้อเสนอเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นการเสนอวิธีแก้ปัญหาทั่วโลกจากมุมมองของชาวพุทธคนหนึ่ง ในวันที่ 26 มกราคมของทุกปีมาตั้งแต่ปี 1983 เนื่องในวาระครบรอบการก่อตั้งเอสจีไอ รับชมข้อมูลได้ที่ www.sgi.org
ที่มา: สมาคมสร้างคุณค่าสากล
ติดต่อ:
โจแอน แอนเดอร์สัน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สมาคมสร้างคุณค่าสากล
โทร. +81-80-5957-4711
อีเมล: anderson[at]soka.jp
AsiaNet 72029