เมื่อเอ่ยถึงสวนสัตว์ ก็จะต้องนึกถึงเด็กๆ ที่นี่ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆที่ในวัยเด็ก พ่อแม่หรือแม้แต่โรงเรียนต้องพาไปเที่ยวชมความน่ารักและชีวิตของสัตว์หลากหลายชนิด แต่ในวันนี้ เรามิได้มาแค่เรียนรู้เรื่องราวของเหล่าสัตว์กว่า 1,000 ชีวิตที่นี่เท่านั้น เพราะเราจะพาเยาวชนมาเจาะลึกกับผู้อยู่เบื้องหลังที่ดูแลรับผิดชอบสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้ และจุดประกายความฝันให้กับน้องๆที่รักสัตว์ ได้รู้จักกับอาชีพน่ารู้ในสวนสัตว์ ภายใต้กิจกรรม “A to a” ในโครงการ Double A Better Tomorrow ปลูกฝัน ปลูกปัญญา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกหลานชาวนาและเยาวชน ก้าวสู่อาชีพในฝัน โดยมีพี่ A (ใหญ่) ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนั้นๆ มาแนะนำถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้องๆ a (เล็ก) เป็นการจุดประกายความฝัน ค้นหาตัวเองและทำให้เป็นจริงได้
กิจกรรมในครั้งนี้ ดั๊บเบิ้ล เอ ได้พาน้องๆจากโรงเรียนบ้านโป่งไผ่ ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ร่วมเรียนรู้อาชีพสัตวแพทย์และนักโภชนาการสัตว์ ณ สวนสัตว์ดุสิต กรุงเทพฯ ซึ่งสวนสัตว์ดุสิตหรืออีกชื่อว่า เขาดินวนา แต่เรามักเรียกติดปากว่า “เขาดิน” มีพื้นที่รวมกว่า 118 ไร่ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ภายในบริเวณพระราชวังดุสิต เป็นสวนพฤกษชาติส่วนพระองค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8 ได้ทรงให้ทางเทศบาลกรุงเทพฯ จัดสร้างให้เป็นสวนสัตว์และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนทุกระดับชั้น และมีการปรับปรุงพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ตลอดมา
เริ่มต้นกิจกรรมช่วงแรก น้องๆกว่า 30 คน นั่งรถรางวนรอบสวนสัตว์ เพื่อรู้จักโซนต่างๆภายในเขาดินกันก่อน ซึ่งทุกคนต่างตื่นเต้นสนุกสนานกับการชมสัตว์ทั้งสองข้างทาง พร้อมฟังบรรยายจากวิทยากรพาชม ใช้เวลาราว 15 นาที ต่อจากนั้น ก็ถึงช่วงเวลาที่น้องๆจะได้ไปพบกับพี่ A (ใหญ่) นับเป็นโอกาสอันดีที่น้องๆได้ชมเบื้องหลังการทำงานในส่วนปฎิบัติการกันเลยทีเดียว
สำหรับอาชีพน่ารู้ อาชีพแรกนั่นคือ สัตวแพทย์ โดยมีพี่ A (ใหญ่) มาร่วมเป็นดั๊บเบิ้ล เอ อาสา คือ “คุณหมอปัณ” สัตวแพทย์ปัณณวัฒน์ สุภาพรรณชาติ จบจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ดูแลรักษาสัตว์ที่เจ็บป่วยในสวนสัตว์แห่งนี้ ได้แนะนำแนวทางให้กับน้องๆ พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ว่า “เบื้องต้นสิ่งที่น้องๆที่อยากก้าวสู่อาชีพนี้ ต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเลือกเรียนสายสามัญ แผนการเรียนวิทย์-คณิต เพื่อสอบเข้าคณะสัตวแพทยศาสตร์ ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 6 ปี นอกจากน้องๆต้องขยันตั้งใจให้มากแล้ว ยังต้องไม่กลัวบาดแผลและเลือด และทนเห็นความเจ็บปวดได้ เพราะไม่ใช่เราจะช่วยให้สัตว์รอดชีวิตได้ทุกตัว เป็นสิ่งที่ต้องเจอคล้ายกับการเรียนหมอนั่นเอง แต่หากเรารักสัตว์แต่ไม่ชอบเห็นเลือด หนอง ก็อาจจะเรียนไปทางสัตวศาสตร์ สัตวบาลแทนได้”
คุณหมอเล่าว่า สัตว์ไม่สามารถพูดหรือบอกอาการได้เหมือนกับมนุษย์ ฉะนั้นนี่คือความท้าทายที่เราต้องรู้จักสังเกตว่าการแสดงออกในลักษณะต่างๆ มันสะท้อนถึงอาการเช่นไร ซึ่งคุณหมอบอกว่าขณะเรียนก็ศึกษาสัตว์หลากหลายชนิดทั้ง หมา แมว นก ไก่ หมู วัว ฯลฯ แต่ไม่มีการเรียนเรื่องสัตว์ป่า ดังนั้นพอถึงเวลาทำงาน ก็สามารถนำมาปรับใช้กับสัตว์ในประเภทคล้ายกัน เช่น เสือกับแมว หมีกับหมา เป็นต้น อาชีพนี้ถือว่าต้องมีความเสียสละ ทุ่มเท และรักสัตว์ หน้าที่การทำงานในแต่ละวันของคุณหมอคือมาทำงานแต่เช้า ปั่นจักรยานทั่วสวนสัตว์เพื่อดูความผิดปกติของสัตว์ จากนั้นก็กลับมาที่โรงพยาบาลดูแลสัตว์ที่บาดเจ็บ พักรักษาตัว หลังจากนั้นก็ไปดูแลสัตว์ที่ป่วยใหม่ต่อไป ที่นี่จะมีหมอ 3 คน ต้องดูแลสัตว์ราว 1,500 ชีวิต
หลังจากที่คุณหมอปัณ ได้พูดคุยและให้แรงบันดาลใจกับน้องๆแล้ว ก็เป็นช่วงเวลาที่น้องๆ ได้สัมผัสกับสัตว์ของจริง นั่นคือ “กระต่าย” โดยคุณหมอได้สาธิตการอุ้มกระต่ายที่ถูกต้อง และก็ได้ความรู้ว่า ไม่ควรอุ้มด้วยการจับหูกระต่าย เพราะมันจะเจ็บเหมือนคนเราที่โดนดึงหู เนื่องจากมีเส้นประสาทอยู่ที่ใบหูของมันด้วย แต่ควรจับที่หลังคอพร้อมกับช้อนมืออุ้มที่ก้นของมัน และให้วิธีสังเกตว่ากระต่ายมีความผิดปกติหรือป่วยอย่างไร
เด็กหญิงปาริชาติ มนตรี หรือน้องชมพู่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านโป่งไผ่ จ.ปราจีนบุรี เล่าว่า “สัตวแพทย์เป็นอาชีพในฝันของหนูค่ะ กิจกรรม A to a ในวันนี้ทำให้หนูรู้สึกสนุกและอยากดูแลสัตว์มากขึ้นค่ะ ที่สำคัญทำให้หนูรู้ว่าหนูต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง หนูชอบที่พี่หมอเล่าให้ฟังว่าในแต่ละวันการทำงานของพี่หมอต้องทำอะไรเป็นสิ่งที่หนูไม่รู้มาก่อนค่ะ ตอนนี้หนูมีแรงบันดาลใจและจะทำให้ได้ตามที่ฝันค่ะ”
นอกจากนั้นอีกหนึ่งอาชีพน่ารู้ในสวนสัตว์ นั่นคือ อาชีพนักโภชนาการสัตว์ ซึ่งพี่ A (ใหญ่) ที่จะมาช่วยแนะนำอาชีพอีกท่าน คือ คุณณรงค์ศักดิ์ สำราญกลาง หรือคุณอ๊อด พาคณะเข้าชมห้องปฎิบัติการที่มองไปรอบๆแล้วคล้ายกับห้องครัว คุณอ๊อด กล่าวแนะนำอาชีพนี้ว่า “นักโภชนาการสัตว์ นับเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ เพราะมีหน้าที่ดูแลอาหารการกินของสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์ ความท้าทายของอาชีพนี้คือ สัตว์ที่เราดูแลเป็นสัตว์ป่า เราจะต้องเรียนรู้การดำรงชีวิตของสัตว์แต่ละชนิด หมวดหมู่และปริมาณอาหารที่ต้องให้ ซึ่งหลักใหญ่ๆสามารถแบ่งประเภทของสัตว์ตามชนิดอาหารที่มันกิน คือ สัตว์กินพืช เช่น ม้าลาย ยีราฟ เป็นต้น สัตว์กินเนื้อสัตว์ เช่น เสือ สิงโต แมวน้ำ สัตว์กินทั้งพืชและเนื้อสัตว์ เช่น ลิง ในแต่ละวันเราก็ต้องจัดเตรียม ทำความสะอาด รู้สัดส่วนในการให้อาหารของสัตว์แต่ละประเภท รวมถึงต้องรู้ว่าสัตว์ชนิดไหนห้ามทานอาหารอะไร มิฉะนั้นอาจทำให้สัตว์ตายได้ น้องๆที่สนใจในอาชีพนี้ต้องขยัน ตั้งใจเรียน และมีความรับผิดชอบ คณะที่เกี่ยวข้องในสายอาชีพนี้ เช่น คณะเกษตรศาสตร์ สาขาสัตวศาสตร์ สาขาสัตวบาล หรือคณะวิทยาศาสตร์ สาขาสัตววิทยา”
เด็กชายวัชรพล เจริญพล หรือน้องโฟน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บอกกับเราว่า “ตอนแรกผมไม่รู้ครับว่ามีอาชีพนี้ในสวนสัตว์ รู้แค่ว่าต้องมีคนให้อาหารสัตว์แน่ๆ แต่วันนี้รู้แล้วครับเรียกอาชีพนี้ว่า ‘นักโภชนาการสัตว์’ ผมฟังพี่อ๊อดแล้วรู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ไม่น่าเบื่อครับ ได้เจอสัตว์หลายชนิดในทุกๆวัน จริงๆสัตว์ที่ผมชอบที่สุดคือ ลิง อนาคตหากความฝันผมเป็นจริงได้ทำอาชีพนี้ ผมจะคิดเมนูแปลกใหม่และมีคุณค่าทางอาหารให้กับสัตว์ครับ วันนี้ผมขอขอบคุณดั๊บเบิ้ล เอ มากๆครับที่ให้โอกาสผมและเพื่อนๆ มาเรียนรู้และให้เรามีแรงบันดาลใจในอาชีพต่างๆครับ”
โดยคุณอ๊อด นักโภชนาการสัตว์ของเรา ก็ฝากให้นักท่องเที่ยวที่มาชมสัตว์ อย่าให้อาหารสัตว์เอง เพราะมีหลายอย่างที่นักท่องเที่ยวอาจจะไม่ทราบหรือไม่ระมัดระวังแล้วทำให้สัตว์ตายได้ เช่น ค่าง 5 สี มันกินกล้วยสุกไม่ได้ กินแล้วมันจะท้องอืดและตาย และที่สวนสัตว์ก็พบสัตว์หลายตัวที่ตายไปเพราะอาหารที่มีหนังยางรัดติดอยู่หรือมีเศษสตางค์ติดไป
แรงบันดาลใจ เป็นเหมือนแสงสว่างที่จะนำทางให้น้องๆไปถึงจุดหมายปลายทางได้ หากผู้ใหญ่อย่างเราช่วยกันนำประสบการณ์ของตนเองส่งต่อและผลักดันให้น้อง ๆ แล้ว เยาวชนรุ่นใหม่ก็จะมีโอกาสยิ่งขึ้นที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต แคมเปญ Double A Better Tomorrow ปลูกฝัน ปลูกปัญญา จึงขอเชิญชวนพี่ ๆ ทุกอาชีพร่วมเป็นพี่ A (ใหญ่) แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ที่มีค่า ให้กับน้อง a (เล็ก) ในกิจกรรม A to a โดยเริ่มจากคนใกล้ตัวและขยายต่อไปยังน้องๆที่ขาดโอกาส เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ดีให้กับเยาวชนของประเทศร่วมกัน ติดตามกิจกรรมดีๆแบบนี้ได้ที่ Facebook Double A Club