ในหลวง ร.10 ทรงพระราชทานปริญญาตรีให้สถาบันการอาชีวศึกษา
การจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี ที่จัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำที่ได้มาตรฐาน โดยใช้หลักสูตรที่แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป นั่นคือ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (Bachelor of Technology) ผู้ที่จบการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษา สายเทคโนโลยีบัณฑิต อักษรย่อ ทล.บ. ซึ่งผู้ที่จบการศึกษาจะเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ มีสมรรถนะในการปฺฏิบัติ และพัฒนางานในระดับเทคโนโลยี สามารถปฏิบัติงานและเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานได้ หรือประกอบอาชีพอิสระ และพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบอาชีพ และมีจิตอาสาในการช่วยเหลือสังคม
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นองค์กรภาครัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากร ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ถึงระดับปริญญาตรี ที่มีความรู้ ทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยี จากสถาบันการอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้ง 23 แห่ง ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2560 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยผู้ที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 ถึง ปีการศึกษา 2559 รวมเป็นจำนวน 3,200 คน โดยแบ่งเป็นปีการศึกษา 2557 จำนวน 508 คน, ปีการศึกษา 2558 จำนวน 687 คน และปีการศึกษา 2559 จำนวน 1,705 คน
และผลสำเร็จ เกิดขึ้นจากแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาด้านวิชาชีพของอาชีวศึกษา ให้ดำเนินการจัดการศึกษาต่อเนื่องได้ถึงระดับปริญญาตรี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา ปี พ.ศ. 2551 ให้สถาบันการอาชีวศึกษาเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีเป้าหมายหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นบัณฑิตนักเทคโนโลยีสายปฏิบัติการ ที่สอดคล้องกับความต้องการของกำลังคนของประเทศสืบไป