1

โรคไต … ภัยคุกตามชีวิตเรื้อรัง รู้ป้องกัน รู้รักษา รู้ดูแลเพื่อสุขภาพที่ดี

 ข่าวไต 2

โรคไตเป็นภัยเงียบที่ทุกคนไม่อาจมองข้าม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรังซึ่งทุกเพศและทุกวัยมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้เช่นกันดังนั้นเราควรให้ความสำคัญและหมั่นตรวจสอบการทำงานของไตอย่างสม่ำเสมอ

แพทย์หญิง จุฑาธิป  ลิ้มคุณากูล  อายุรแพทย์โรคไต  ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ  ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผยว่า ไต เป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์มีจำนวน 2 อันอยู่ที่บริเวณด้านหลังระดับชายโครงทั้งสองข้างมีหน้าที่คือกรองของเสียที่อยู่ในเลือดออกมาเป็นปัสสาวะ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการควบคุมความดันโลหิต ควบคุมสมดุลของเกลือแร่และภาวะกรดด่าง รวมทั้งมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง และกระบวนการสร้างวิตามินดีทำให้กระดูกแข็งแรงอีกด้วย

โดยทั่วไปเราแบ่งโรคไตออกเป็น  2 ลักษณะ คือ โรคไตวายเฉียบพลัน และ โรคไตเรื้อรัง สำหรับโรคไตวายเฉียบพลันคือการที่ไตทำงานลดลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเป็นวันหรือสัปดาห์โดยมีสาเหตุภาวะที่เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง เช่นขาดน้ำหรือท้องเสียรุนแรง การเสียเลือดจำนวนมากหรือจาก โรคไตอักเสบอย่างรุนแรง พิษจากยา ระบบทางเดินปัสสาวะอุดตันเฉียบพลันเป็นต้นถ้าภาวะข้างต้นได้รับการแก้ไข ไตอาจกลับมาทำงานปกติ ตรงกันข้ามหากแก้ไขช้าจะทำให้ไตทำหน้าที่ลดลงไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นโรคไตเรื้อรังได้

ส่วนโรคไตเรื้อรัง คือภาวะที่ไตเกิดความเสียหายทางโครงสร้างและหรือมีทำงานลดลง หรือพบว่ามีโปรตีนรั่วหรือมีเซลผิดปกติในปัสสาวะเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน โดยเราสามารถแบ่งระยะโรคไตเรื้อรังตามความสามารถในการทำงานของไตที่เหลืออยู่ได้ 5 ระยะ โดยถ้าการทำงานไตเสื่อมมากคือตั้งแต่ระยะ 3ขึ้นไปเราถือว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง   โดยผู้ป่วยในระยะนี้ควรได้รับการเตรียมตัว เพื่อชะลอการเข้าสู่ระยะสุดท้ายหรือ ระยะที่ 5ซึ่งนั่นหมายถึงไตไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อีกและ ผู้ป่วยจะไม่สามารถดำรงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา

เราทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไต ?  เนื่องจากโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการปรากฏหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่แสดงอาการเมื่อไตเสื่อมมาก  ซึ่งอาการผิดปกติ ได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียไม่มีแรง แขนขาบวม ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะบ่อยเวลากลางคืน ผิวหนัง แห้งคัน เป็นต้น

ใครเสี่ยง ? ผู้ที่มีโอกาสเสียงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไต  ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคลูปัส โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ เป็นต้น

การทำงานของไตทำอย่างไร ?  เราวัดการทำงานไตโดยวัดอัตราความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือด หรือ Glomerular Filtration Rate (GFR) แพทย์จะเจาะเลือดตรวจสารที่มีชื่อว่าครีเอตินิน (creatinine) มาคำนวณในสูตรเพื่อประเมินการทำงานที่เหลือของไตรวมถึงการตรวจปัสสาวะเพื่อหาความผิดปรกติและหาระดับโปรตีนซึ่งจะช่วยบอกสาเหตุและความรุนแรงของโรคไต  นอกจากนี้ การอัลตร้าซาวด์ ก็มีประโยชน์เพื่อดูโครงสร้างและขนาดไต หรือบางกรณีแพทย์อาจเจาะชิ้นเนื้อไต เพื่อหาสาเหตุและประเมินผลการ รักษานั่นเอง

ขั้นตอนในการรักษาโรคไต ? ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะที่ 3 ขึ้นไป ต้องลดกินอาหารที่มีรสเค็ม อาหารที่มีเกลือโพแทสเซียมสูง ลดปริมาณเนื้อสัตว์ ลดของมัน ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำได้อย่างน้อยวันละ 2 ลิตรหากไตเสื่อมไม่มาก แต่ถ้าไตเสื่อมมากผู้ป่วยจำเป็นต้องลดปริมาณน้ำดื่มลง หลีกเลี่ยงการใช้สารที่เป็นพิษต่อไต เช่น ยาแก้ปวดแก้อักเสบ การฉีดสารทึบรังสี หรือการฉีดสีเข้าหลอดเลือดระหว่างตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือฉีดขณะสวนหัวใจ  ผู้ป่วยโรคไตต้องควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ระหว่าง 120/70 ถึง 130/80 มิลลิเมตรปรอทและผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วมจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงค่าปกติเพื่อชะลอความเสื่อมของไตและภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดและหัวใจ ต่อเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 ต้องเตรียมตัวสำหรับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตตลอดชีวิต ซึ่งมี 2 วิธี คือ การล้างไตผ่านทางหน้าท้อง และการล้างไตด้วยการฟอกเลือด

หากต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงปกติที่สุดผู้ป่วยควรได้รับการปลูกถ่ายไตทั้งนี้ไตใหม่ที่ใส่เข้าไปอาจได้รับบริจาคจากผู้เสียชีวิตหรือญาติสายตรงก็ได้ สุดท้ายนี้โปรดระลึกไว้ว่า  “โรคไตเป็นได้ทุกวัย เสื่อมได้ทุกคน” ดังนั้นเรามารักษ์ไตกันเถอะคะ