โรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขและแมว

0
389
image_pdfimage_printPrint

Dogs-Heartworm-Disease11

การดูแลสัตว์เลี้ยงที่เราทราบกันดีที่ผู้เลี้ยงมักจะให้ความสำคัญและทำเป็นประจำ คือ การทำวัคซีนประจำปี การถ่ายพยาธิ และการป้องกันเห็บหมัด นอกจากนี้ยังมีภัยใกล้ตัวที่เจ้าของอาจหลงลืม แต่ก็มีความจำเป็น และหากไม่ป้องกัน สามารถส่งผลระยะยาวให้กับสัตว์เลี้ยงของเราได้ โรคนั้นคือ “โรคพยาธิหนอนหัวใจ”

สำหรับสาเหตุของโรคพยาธิหนอนหัวใจนั้น เกิดจากยุง โดยยุงที่อยู่ในบ้านเราที่กัดคนนี่แหละ ที่สามารถก่อให้เกิดปัญหาทั้งกับสุนัขและแมว ยุงเป็นพาหะของโรคนี้โดยได้รับเชื้อจากการไปดูดเลือดสุนัขหรือแมวที่มีเชื้ออยู่แล้ว จากนั้น ตัวอ่อนจะพัฒนาภายในต่อมน้ำลายของยุงจนถึงระยะติดเชื้อ เมื่อยุงตัวดังกล่าวไปกัดสุนัขหรือแมวตัวอื่นๆ ก็จะปล่อยตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจเข้าสู่กระแสเลือด และไปเจริญเต็มที่อยู่ที่หลอดเลือดในปอดและหัวใจ จากนั้นจึงผสมพันธุ์กันและปล่อยตัวอ่อนเข้าสู่กระแสเลือด หากมียุงมาดูดเลือดก็จะกลายเป็นพาหะที่สามารถแพร่กระจายโรคได้ต่อไปอีก

อาการของโรคพยาธิหนอนหัวใจสามารถแบ่งได้หลายระยะตั้งแต่ ไม่แสดงอาการ หรือเริ่มมีอาการทางเดินหายใจเช่นไอ หอบ เหนื่อยง่าย จนถึงภาวะหัวใจวาย ซึ่งทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้ การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจเลือด ร่วมกับการตรวจด้วยเครื่องมือในการตรวจโรคหัวใจ ได้แก่ การถ่ายภาพรังสี การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการทำอัลตราซาวด์หัวใจ เป็นต้น

การรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจมีกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อนและใช้เวลานาน โดยมีการฉีดยากำจัดพยาธิหนอนหัวใจภายใต้การประเมินอาการอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์ ในช่วงเวลาที่มีการตรวจพบหากพิจารณาจะทำการรักษาต้องการมีการเตรียมตัวสุนัขก่อนประมาณ 1 เดือน จากนั้นเริ่มทำการรักษาโดยการให้ยาฉีด เพื่อฆ่าตัวเต็มวัยที่อยู่ในหัวใจ โดยต้องฉีดมากกว่า 1 ครั้ง และในเวลาเดียวกันก็ต้องทานยาเพื่อลดผลที่เกิดจากการแตกสลายของตัวพยาธิที่ตายแล้ว ระหว่างที่อยู่ในช่วงการรักษาต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์ แม้สุนัขจะอยู่ในช่วงการรักษาก็มีโอกาสเสียชีวิตจากการที่พยาธิที่ตายแล้วไปอุดหลอดเลือดขนาดเล็กที่มีความสำคัญ เข้าหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดที่ไต ทำให้เกิดปัญหาอวัยวะล้มเหลว

ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและทำได้ง่ายที่สุด ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจที่ผ่านการรับรองหลายรูปแบบเช่น รูปแบบยาเม็ด และชนิดหยดหลัง ซึ่งควรทำเป็นประจำทุกเดือน นอกจากนั้นยังมียาในรูปแบบฉีดปีละ 1 ครั้ง ทำให้สะดวกและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น การป้องกันเพียงเดือนละ 1 ครั้ง หรือฉีดปีละ 1 ครั้งง่ายๆ เพียงเท่านี้ ก็ทำให้สัตว์เลี้ยงของเราปลอดภัยจากปัญหาที่จะตามมาจากพยาธิหนอนหัวใจได้อีกเยอะ

โดย…หมอน๊อต ทีมสัตวแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
Tel : 02-7126301-4 Fax : 02-7125273
FB : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

ขอบคุณรูปภาพจาก : http://irvinevetservices.com/irvine-well-pet-care/heartworm-dogs-cats/