โมบายล์แอพใหม่จุดประกายให้คนทั่วโลกแสดงความคิดเห็นเรื่องครอบครัว การนอนหลับ ความเชื่อมั่น เซ็กซ์และโชคลาภ

0
269
image_pdfimage_printPrint

โครงการระดับโลกเผยแง่มุมใหม่ของบิ๊กดาต้า คนทั่วโลกร่วมแบ่งปัน เชื่อมต่อ
และมีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอด
7 วัน

 

 

กรุงเทพฯ – 28 กันยายน 2555 – ริค สโมแลน (Rick Smolan) ผู้ร่วมสร้างสรรค์ชุดภาพถ่าย “Day in the Life” อันเลื่องชื่อ รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่ระดมทรัพยากรจากทั่วโลก ได้เปิดตัวโมบายล์แอพที่ใช้งานได้ฟรีสำหรับ iOS และ Android ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วโลกได้ร่วมแบ่งปันและเปรียบเทียบชีวิตของตนเองในช่วงระยะเวลา 7 วัน (26 กันยายน – 2 ตุลาคม) โดยใช้เซ็นเซอร์ในโทรศัพท์ และตอบคำถามที่กระตุ้นความคิดร่วมกับคนอื่นๆ จากทั่วทุกมุมโลก ในประเด็นเรื่องความฝัน ความสนใจ และความคิดเห็นเกี่ยวกับครอบครัว การนอนหลับ ความเชื่อมั่น เซ็กซ์ และโชคลาภ เวอร์ชั่น Android สามารถใช้งานได้แล้ววันนี้ และเวอร์ชั่นสำหรับ iOS จะสามารถใช้งานได้ภายในสัปดาห์นี้

 

แอพดังกล่าวรองรับการเปิดตัวโครงการ The Human Face of Big Data ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อจุดประกายให้ผู้คนทั่วโลกร่วมพูดคุยกันเกี่ยวกับความสามารถของมนุษยชาติในการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ เชื่อมโยง และแสดงผลข้อมูลจำนวนมหาศาลในแบบเรียลไทม์

 

ในวันที่ 2 ตุลาคม สโมแลนและทีมงานจะจัดงานแถลงข่าวในลอนดอน สิงคโปร์ และนิวยอร์ก โดยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านบิ๊กดาต้าได้ร่วมกันตีความและแสดงผลสตรีมมิ่งข้อมูลในช่วง 7 วันจากผู้คนทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการผ่านโมบายล์แอพดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล และนักประดิษฐ์จะร่วมกันนำเสนอตัวอย่างผลงานใน “ห้องแล็บบิ๊กดาต้า” (Big Data Lab) และจะมีการถ่ายทอดสดผ่านเว็บเพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้รับชมการแถลงข่าว

 

สโมแลนกล่าวว่า “บิ๊กดาต้าเริ่มส่งผลกระทบต่อทุกแง่มุมของชีวิตคนเรา โดยทุกคนที่ถือสมาร์ทโฟนจะทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดโลกของเราในแบบเรียลไทม์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่การรักษาโรคไปจนถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีค่า เช่น น้ำ และพลังงาน บิ๊กดาต้าอาจเป็นเครื่องมือที่เราจำเป็นต้องใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญหลายๆ อย่างในยุคสมัยของเรา”

 

นับจากวันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม โมบายล์แอพ The Human Face of Big Data จะเชิญชวนให้ทุกๆ คนร่วมแบ่งปันแนวคิดและเปรียบเทียบคำตอบกับคนอื่นๆ ทั่วโลก โดยผู้ใช้จะสามารถสร้างแผนผังเส้นทางชีวิตในแต่ละวัน แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งของและการกระทำที่นำโชคดีมาสู่ชีวิต ตรวจสอบสิ่งพิเศษที่คนอื่นๆ อยากจะสัมผัสในช่วงชีวิต และค้นพบความลับที่ซ่อนอยู่เกี่ยวกับโลกของแต่ละคน แอพดังกล่าวเลือกได้ 8 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ จีนกลาง (แบบประยุกต์) ญี่ปุ่น โปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส เกาหลี และรัสเซีย

 


สามองค์ประกอบหลักของแอพ The Human Face of Big Data:

 

  • ข้อมูลทั่วไป: ข้อมูลที่โทรศัพท์ของคุณเก็บรวบรวมระหว่างวัน เช่น คุณเดินทางไปไกลแค่ไหน และความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางของคุณ หรือช่วงเวลาใดของวันที่คุณมีกิจกรรมมากที่สุด
  • คำถามและคำตอบแบบเรียลไทม์: หัวข้อได้แก่ ฉันและตัวฉันเอง ความเชื่อมั่นและความปลอดภัย การนอนหลับและความฝัน และเซ็กซ์และการออกเดท ผู้ใช้จะสามารถเปรียบเทียบคำตอบของตัวเองกับคนอื่นๆ ทั่วโลก และจัดเรียงคำตอบตามอายุ เพศ และตำแหน่งที่ตั้งทั่วไป
  • กิจกรรม: ส่งภาพถ่าย สร้างแผนที่การเดินทางในแต่ละวัน และค้นหา “เงาข้อมูล” ของคุณ  กิจกรรมในแอพนี้ประกอบด้วย:
    • Lucky Me: ขอให้ผู้ใช้ร่วมแบ่งปัน “พิธีกรรมนำโชค” นั่นคือ สิ่งที่เขามักจะทำก่อนการแข่งกีฬา การสอบ การเสนอขายสินค้า หรือกิจกรรมสำคัญอื่นๆ ซึ่งช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ จากนั้นก็สามารถใช้ตัวกรองเพื่อเปรียบเทียบกับเคล็ดลับของคนอื่นๆ จากทั่วทุกมุมโลก
    • Map My World: บันทึกแบบแผนการเดินทางในแต่ละวัน ซึ่งจะสามารถแชร์ผ่าน Facebook และ Twitter รวมถึงระยะทางทั้งหมด ความเร็วโดยเฉลี่ย และช่วงเวลาที่คุณยุ่งที่สุดในวันนั้นๆ
    • Data Doppelganger: เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ค้นหา Data Doppelganger ซึ่งเป็นภาพใบหน้าของตนเอง (ถ้าหากเขาเลือกที่จะอัพโหลดภาพถ่าย) ผสมผสานกับภาพใบหน้าของคนอื่นที่มีข้อมูลใกล้เคียงกับเขามากที่สุด  นอกจากนี้ ผู้ใช้จะเห็นอายุ ตำแหน่งที่ตั้ง เปอร์เซ็นต์ของคำถามที่ตอบ สถิติข้อมูลทั่วไป และกิจกรรมที่ดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งของตนเองและของคนที่เป็นเงา
    • Before I Die: กิจกรรมนี้อ้างอิงโครงการกระตุ้นความคิดของแคนดี้ ชาง และหนังสือเล่มใหม่ที่มีชื่อว่า Before I Die โดยผู้คนทุกเพศทุกวัยจะสามารถร่วมแชร์สิ่งเดียวที่เขาอยากจะทำมากที่สุดในช่วงชีวิตของเรา และผู้เข้าร่วมจะสามารถเปรียบเทียบความหวังและความใฝ่ฝันของตนเองกับคนอื่นๆ ทั่วโลก

 

เมื่อสิ้นสุดโครงการ ข้อมูลที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อจะพร้อมใช้งานสำหรับนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิชาการที่ต้องการศึกษา โดยอยู่ในรูปแบบของชุดข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของมนุษยชาติในช่วงหนึ่งสัปดาห์ในปี 2555

 

โครงการ The Human Face of Big Data ดำเนินการโดยกลุ่มบรรณาธิการที่เป็นอิสระ และเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจาก อีเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลัก นอกจากนี้ยังมีผู้สนับสนุนเพิ่มเติม ได้แก่ ซิสโก้, เฟดเอ็กซ์, วีเอ็มแวร์, ทาโบล และออริจิเนต

 

เกี่ยวกับ The Human Face of Big Data

The Human Face of Big Data ดำเนินการโดย Against All Odds Productions เป็นโครงการสื่อที่ระดมทรัพยากรจากทั่วโลก โดยมุ่งเน้นความสามารถใหม่ในการรวบรวม วิเคราะห์ เชื่อมโยง และแสดงผลข้อมูลจำนวนมหาศาลในแบบเรียลไทม์  Against All Odds ซึ่งนิตยสารฟอร์จูน ระบุว่าเป็น “หนึ่งใน 25 บริษัทที่ยอดเยี่ยมที่สุดในอเมริกา” มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการออกแบบและดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีการระดมทรัพยากรจากทั่วโลก โดยผสานรวมการบอกเล่าเรื่องราวเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย  โครงการของบริษัทฯ ขึ้นปกนิตยสารชั้นนำมากมาย เช่น Fortune, Time, Newsweek และ US News & World Report

 

ความเป็นส่วนตัวและแอพ The Human Face of Big Data

แอพ The Human Face of Big Data ได้รับการพัฒนาโดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้  ข้อมูลที่เก็บรวบรวมผ่านแอพดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ด้านการศึกษาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า และเพื่อนำเสนอแง่มุมที่น่าสนใจเมื่อผู้ใช้แต่ละคนเปรียบเทียบคำตอบของตนเองกับคนอื่นๆ ทั่วโลก  ข้อมูลแบ่งเป็นสองประเภท คือ (1) ข้อมูลที่ผู้ใช้จัดหาให้โดยสมัครใจ เช่น ภาพถ่าย และ (2) ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยอัตโนมัติจากผู้ใช้ขณะที่ใช้แอพ  เราไม่ได้สอบถามชื่อของผู้ใช้ อีเมลแอดเดรส หรือข้อมูลอื่นๆ สำหรับการติดต่อ และผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องสร้างชื่อผู้ใช้หรือรหัสผ่าน  เราสอบถามอายุและเพศ และขอให้ผู้ใช้ยืนยันเมืองที่อุปกรณ์พกพารายงานเมื่อผู้ใช้ใช้งานแอพเป็นครั้งแรก  เราวิเคราะห์ข้อมูลที่ผู้ใช้จัดหาให้เกี่ยวกับอายุ เพศ และตำแหน่งที่ตั้ง และคำตอบสำหรับคำถาม และเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้รับจากผู้อื่น เพื่อช่วยให้ผู้ใช้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับทัศนะและความมุ่งหวังของผู้ใช้แอพทั่วโลก  นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถใช้แอพได้โดยไม่ให้ข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคล และสามารถเลือกที่จะไม่อัพโหลดภาพถ่าย และไม่ใส่ข้อมูลที่ระบุตัวบุคคลไว้ในคำตอบเกี่ยวกับกิจกรรมของผู้ใช้