“โคโค่แม็ก” เปิดตัวทีมเรือใบลูกทัพเรือ ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9

0
405
image_pdfimage_printPrint

“การแล่นเรือใบ สอนให้คนคิดเอง ทำเอง ว่าลมมาทางไหน…ถ้าเราแล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น…แล้วนำมาใช้ในชีวิต เด็กไทยจะรู้จัก และเข้าใจในการคิดเอง ทำเอง” ความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดกีฬา “เรือใบ” (Yatching ) ซึ่งไม่เป็นเพียงการทรงเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น หากแต่ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการต่อเรือจากฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และนำไปร่วมในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 (ปัจจุบันคือกีฬาซีเกมส์) โดยทรงมีพระปรีชาสามารถได้รับชัยชนะในประเภท โอ.เค. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 สร้างความปลื้มปีติให้กับคนไทยทั้งประเทศ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวในเอเชียที่ทรงได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบในระดับนานาชาติ

หนึ่งในการแข่งขันเรือใบระดับนานาชาติที่เป็นที่นิยมมากที่สุดของโลกก็คือ “การแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” โดยครั้งล่าสุดซึ่งจัด ณ กะตะบีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต ไปเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นครั้งที่ 30 ประจำปี 2559” วัตถุประสงค์เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช องค์อุปถัมภ์กีฬาเรือใบไทย โดยงานดังกล่าวสามารถดึงดูดทีมเรือใบและเรือยอร์ชมากกว่า 200 ลำ พร้อมนักกีฬาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 30 ประเทศ รวมๆแล้วไม่ต่ำกว่า 1,500 คน เลยทีเดียว และเพื่อสืบสานกีฬาเรือใบตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบที่ทรงพระปรีชาสามารถและประสบความสำเร็จอย่างงดงามในระดับสากล บริษัท เอเซียติค อุตสาหกรรมเกษตร จำกัด ผู้ผลิตน้ำมะพร้าวแท้ 100% ตรา “โคโค่แม็ก” (Cocomax) ได้ร่วมสนับสนุนทีมเรือใบจากโรงเรียนนายเรือ ภายใต้การนำทีมของโค้ชหลิม นาวาตรีวีรสิฏฐ์ พวงนาค อดีตโค้ชทีมชาติไทยจนสามารถทำคะแนนนำมาเป็นอันดับที่ 4 จากการเข้าร่วมการแข่งขันในประเภทเรือใบใหญ่คีลโบ้ทและมัลติฮัลล์ ในรุ่นไออาร์ซี 2 นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวความภูมิใจที่ได้ร่วมตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย

ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันเหนือท้องทะเลอันดามันอันสวยงาม เราได้มีโอกาสพูดคุยกับโค้ชหลิมและตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนนายเรือ โค้ชหลิม ผู้ทุ่มเทการฝึกซ้อมให้กับทีมโรงเรียนนายเรือ เปิดใจว่า “การแข่งขันในครั้งนี้ เรามีการฝึกซ้อมกันไม่มากนักด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง แต่ทุกคนก็เต็มที่มาก ใช้เวลาว่างในการฝึกซ้อมเพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียน ส่วนผลการแข่งขันที่ออกมา ผมรู้สึกภูมิใจในตัวเด็กๆ ทุกคนทำได้ดีมาก แม้เราจะเป็นทีมเรือใบน้องใหม่ที่เพิ่งจะฟอร์มทีมกันเป็นครั้งแรก ซึ่งในประเภทที่พวกเราลงแข่ง เป็นการเก็บคะแนนไปเรื่อยๆ ทั้งหมด 4 วัน ในวันแรกด้วยสภาพแวดล้อม ลมฟ้าอากาศ และกระแสน้ำ ล้วนเป็นสิ่งใหม่สำหรับเด็กๆที่จะต้องร่วมทำงานกันเป็นทีมและจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นไปให้ได้ ต้องปรับตัวและแก้ไขสถานการณ์ชั่วโมงต่อชั่วโมง ในวันแรกทีมเราเข้าเป็นลำดับที่ 5 วันที่ 2 เข้าเป็นลำดับที่ 2 ส่วนในวันที่ 3 เข้าเป็นลำดับที่ 3 สำหรับวันสุดท้ายเจอปัญหาในเรื่องของใบเรือขาดก็มีการซ่อมแซมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน รวม 4 วัน เราได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี”

โค้ชหลิม กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราโชคดีมากที่ในปีนี้ โคโค่แม็ก ได้เข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้ทีมโรงเรียนนายเรือมาถึงในจุดนี้ได้ ซึ่งในฐานะโค้ชหากถามถึงความยากง่ายคงจะไม่ได้ เพราะจริงๆแล้วการลงแข่งแต่ละประเภทขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ส่วนในเรื่องทักษะต่างๆของการแข่งขันทุกประเภทก็เหมือนกัน ถ้าเรือลำใหญ่ตำแหน่งหรือจำนวนผู้เล่นก็เยอะตาม ซึ่งการลงแข่งขันในครั้งนี้ทุกคนก็จะมีตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง ต้องเลือกคนให้เหมาะสมกับตำแหน่ง ในระหว่างการฝึกซ้อมและการแข่งขันทุกคนต้องคอยสังเกต เรียนรู้หน้าที่ และสิ่งรอบตัว หากเกิดเหตุสุดวิสัย หรืออุปสรรคที่ทำให้คนใดคนหนึ่งไม่สามารถทำหน้าที่ได้ คนอื่นๆก็จะต้องทำหน้าที่แทน ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เพราะความท้าทายของกีฬาเรือใบก็คือ ต้องเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติ ต้องต่อสู้กับธรรมชาติ กระแสคลื่น กระแสลม ต้องศึกษาทิศทางลม และแข่งขันกับจิตใจของตัวเอง”

ฟังจากปากโค้ชมืออาชีพแล้ว มาฟังนักกีฬาเรือใบจากโรงเรียนนายเรือกันบ้างดีกว่า เริ่มกันที่พี่ใหญ่ของทีมซึ่งเป็นชาวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี อย่าง “นันท์-พัทธนันท์ บรรเริงเสนาะ” อายุ 23 ปี ปัจจุบันเป็นนักเรียนนายเรือชั้นปีที่ 4 มีหน้าที่ในการควบคุมเชือกเรือบริเวณกลางลำเรือ หรือเรียกตามภาษากีฬาเรือใบว่าตำแหน่งคีย์บอร์ด (Keyboard) เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเล่นเรือใบให้ฟังว่า

“ตอนเด็กๆ เคยดูหนังเกี่ยวกับโจรสลัดและเกิดความสงสัยว่าเรือจะแล่นได้อย่างไรจากลมที่พัดมา รู้สึกตื่นเต้นมากๆว่าเรือเดินทางอย่างไร ลมมาทางนี้ มันจะสวนกระแสลมขึ้นไปได้อย่างไร ประกอบกับเรือใบเป็นกีฬาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรด ยิ่งทำให้ผมอยากเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท จนวันหนึ่งมีเพื่อนแนะนำว่าถ้าอยากเล่นเรือใบให้ไปที่หาดสัตหีบ จะมีคนสอน ก็เลยลองไปหัดเล่นและแล่นเมื่อมีโอกาส ได้มาเข้าโรงเรียนนายเรือ ก็สมัครเข้าชมรมแล่นเรือใบ ได้มาเล่นเรือใบตามที่ฝันไว้ โดยเริ่มเล่นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว แต่เล่นแบบจริงจังก็ประมาณ 4 ปีแล้ว สำหรับการแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ก่อนหน้าเคยแข่งในลักษณะกีฬาภายในของกองทัพเรือ เคยได้รับรางวัลการแข่งเรือประเภทเดี่ยว ได้เหรียญทองการแข่งขันเรือ โอ.เค.ประเภทคอร์ทและประเภททางไกล ปีต่อมาก็ลงแข่งเรือประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์เป็นเรือคู่ ได้รางวัลที่ 2”

อดีตนักกีฬาเหรียญทองกองทัพเรือยังเล่าถึงความท้าทายของการแล่นเรือใบว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชดำรัสไว้ว่า การแล่นเรือใบคือ การฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ถ้าเจอปัญหาต้องเรียนรู้ที่จะแก้ ค่อยๆคิดทีละขั้นตอน การแล่นเรือใบฝึกให้คิดเป็นลำดับขั้น ส่วนเทคนิคและหัวใจสำคัญผมว่าอยู่ที่จินตนาการด้วย เราต้องจินตนาการว่าลมจะมาจากทางทิศไหน กระแสน้ำเป็นอย่างไร ถ้าเราไปเส้นนี้เราจะเจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วถ้าไปอีกเส้นทางหนึ่งจะเป็นอย่างไร เส้นทางไหนน่าจะดีกว่ากัน สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประสบการณ์กับชาวต่างชาติ รวมทั้งได้แสดงความมีน้ำใจ ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอีกด้วย”

ต่อกันที่พี่รองของทีม “ซูโม่-สมัชญ์ ไทยานนท์” อายุ 21 ปี นักเรียนนายเรือชั้นปีที่ 3 ในตำแหน่งทริมเมอร์ (Trimmer) ของเรือ ซึ่งมีหน้าที่แต่งใบเรือและบังคับใบเรือให้สามารถรับลมได้ตลอดเวลา ย้อนอดีตให้ฟังว่า

“ผมเล่นเรือใบมาตั้งแต่อายุ 11-12 ขวบ และเริ่มลงแข่งตั้งแต่อายุ 15 ปี ที่ภูมิใจที่สุดคือ แชมป์เอเชี่ยนเกมส์ที่ประเทศมาเลเซียประเภททีมเรือใบเล็ก กีฬาเรือใบช่วยฝึกการใช้ความคิด วางแผนทิศทางลม และกระแสน้ำ ต้องวางแผนก่อนการแข่งขัน โดยในส่วนของการแข่งขันประเภทเดี่ยวจะต้องตัดสินใจเอง แข่งกับตัวเอง ส่วนการเล่นแบบเป็นทีมจะต้องอาศัยความสามัคคี มีกฎกติกาในการแข่งขัน ต้องหลบหลีกคู่ต่อสู้ ต้องพาทีมไปสู่ชัยชนะให้ได้ ส่วนเรื่องความพร้อมของร่างกายนั้น การที่ผมเป็นนายเรือทำให้ก็มีการออกกำลังกายเป็นปกติอยู่แล้ว ควบคู่ไปกับการเลือกรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย”

ซูโม่ บอกด้วยว่า “การแข่งขันในแต่ละครั้งถือเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และครั้งนี้ก็เช่นกัน รู้สึกสนุก ช่วงวันแรกลมแรงมากและได้แข่งในระยะไกลด้วย และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสเล่นกีฬาเรือใบซึ่งเป็นกีฬาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรด โดยทรงมีพระปรีชาสามารถและประสบความสำเร็จในระดับสากล”

ปิดท้ายกันที่น้องเล็กสุดท้องของทีมโรงเรียนนายเรือ “มายล์-นันทิพัฒน์ นิราศ” อายุ 20 ปี นักเรียนนายเรือชั้นปีที่ 2 ในตำแหน่งบาวแมน (Bowman) มีหน้าที่ในการเซ็ทใบเรือ 3 ใบ มีใบเมนตรงกลาง ใบเจนัว และใบสปิคนิกเกอร์ โดยทำการติดตั้งทั้งหมดให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน เล่าว่า

“พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเรือใบเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ผมอยากเล่นกีฬาเรือใบ โดยเริ่มเล่นกีฬาเรือใบตั้งแต่ตอนอยู่ปี 1 ข้อดีของการเล่นประเภทเดี่ยวคือทำให้ผมฝึกการนำเรือ การดูกระแสน้ำ ดูทิศทางลม ต้องใช้การตัดสินใจด้วยตนเอง ส่วนการเล่นเป็นทีม เป็นการฝึกทีมเวิร์ค ทุกคนต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งต้องสังเกตและเรียนรู้การทำหน้าที่อื่นๆของเพื่อนร่วมทีมด้วย เพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เชื่อว่าคนที่ไม่เคยเล่นกีฬาเรือใบ ถ้าได้มาลองแล้วจะรักเรือใบแน่นอน เพราะถึงจะเหนื่อยแต่สนุกเพราะเราต้องเล่นและสู้กับธรรมชาติ การเล่นเรือใบในแต่ละครั้งจะเจอปัญหาที่แตกต่างกันออกไป เป็นกีฬาที่ฝึกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจริงๆ”

เสน่ห์ของการเล่น “เรือใบ” นอกจากจะเป็นกีฬาเอาท์ดอร์สุดท้าทาย ได้แล่นลมชมทะเล ได้สัมผัสกับธรรมชาติแล้ว สิ่งสำคัญเมื่อแล่นเรือออกไปก็คือ การได้ใช้สติ สมอง และสองมือให้สัมพันธ์กัน สายตาไม่ละจากเป้าหมาย จิตใจที่แน่วแน่เพื่อนำพาเรือไปในทิศทางที่กำหนดและกลับเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย เป็นกีฬาที่ฝึกความอดทน สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตได้ด้วยตนเอง