โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ประชุมหารือผู้นำ 3 ชุมชนในเขตพระนคร

0
297
image_pdfimage_printPrint

1F-IMG_6102-Medium

การพบปะหารือผู้นำ 3 ชุมชนเขตพระนคร ในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ Chaopraya The River For All โดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล. ) ที่ปรึกษาโครงการฯ นำโดย รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการฯ และคณะทำงาน ประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนวัดสามพระยา ชุมชนท่าวัง และชุมชนท่าเตียน ณ สำนักงานเขตพระนคร โดยได้ชี้แจงแนวทางและการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงนำร่องระยะทางสองฝั่งรวม 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฟื้นฟูแม่น้ำโดยพัฒนาภูมิทัศน์และทางเดินเลียบแม่น้ำให้งดงาม มอบเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทุกคนทุกระดับได้เข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียมกันเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ นันทนาการ สุขภาพและกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน การเตรียมงานลงพื้นที่สำรวจและรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเขตพระนคร และนำข้อมูลมาวิเคราะห์และร่วมออกแบบกับชุมชนต่อไป

ในช่วงแรก ผู้นำชุมชนแสดงความกังวลใจเนื่องจากเคยได้รับข้อมูลมาก่อนหน้านี้ว่า จะเป็นถนนขนาดใหญ่และสูงจนบดบังอาคารบ้านเรือนริมน้ำ หวั่นความปลอดภัยจากอาชญากรรม ซึ่ง รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการฯ และคณะทำงานได้ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คำนึงถึงทัศนียภาพที่สวยงามและสะท้อนอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันของวิถีวัฒนธรรม โดยหลักการแนวคิดเป็นทางเดิน-ปั่นเลียบแม่น้ำ เชื่อมต่อพื้นที่สวนสีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรม และระบบขนส่งสาธารณะรถ เรือ ราง โครงการไม่ใช่ถนนให้รถวิ่งแต่อย่างใด ส่วนพื้นผิวทางเดิน-ปั่นจะต่ำกว่าสันเขื่อนกันน้ำเดิมของกทม. จึงไม่บดบังทัศนียภาพ ในด้านความปลอดภัยทางโครงการจะออกแบบให้มีความปลอดภัยของชุมชนริมน้ำด้วย

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทุกคนทุกระดับได้เข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียมกันนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จัดทำแผนแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางสองฝั่ง รวม 57 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการนำร่อง ระยะทางสองฝั่ง รวม 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยทำการศึกษา สำรวจและออกแบบรายละเอียด ระยะเวลาดำเนินการ 7 เดือน เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการฟื้นฟูพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อื่นๆต่อไปในอนาคต

ร่วมกันคิด ร่วมกันทำเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำของเรา สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน พร้อมไปกับการพัฒนาชุมชนและเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนอีกด้วย