1

โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งปราณบุรี ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

ชายหาดปราณบุรี แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เนื่องจากมีความเงียบสงบและมีน้ำทะเลที่ใสบริสุทธิ์เหมาะแก่การพักผ่อนของนักท่องเที่ยว เป็นชายหาดที่ทอดยาวจากหาดปราณบุรีไปจนถึงเขากะโหลกซึ่งเป็นที่ตั้งของวนอุทยานท้าวโกษา แต่ที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่แห่งนี้มีการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณชายหาดปราณบุรีอย่างต่อเนื่อง

หากย้อนดูสถิติอัตราการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณชายหาดปราณบุรี ในระยะ 55 ปี ตั้งแต่ปี 2495-2551 พบว่าเกิดการกัดเซาะชายฝั่งเฉลี่ย 1 – 5 เมตร/ปี และบริเวณพื้นที่ที่มีการกัดเซาะรุนแรงอยู่ตอนกลางของหาด มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า 5 เมตร/ปี เป็นระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร

จากสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทำให้ทางสัญจรริมชายทะเลเสียหายจากแรงกระแทกของคลื่นลมทำให้เกิดหินแหลมคม ทางสัญจรริมชายทะเลเสียหาย และมีเศษหินกระจัดกระจายเต็มพื้นจากคลื่นที่ซัดขึ้นมา ส่งผลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวขาดความปลอดภัยในการมาใช้หรือสัญจรผ่านพื้นที่การขนส่งสินค้าประมงพื้นบ้าน การไปมาหาสู่กันระหว่างชุมชนไม่สะดวก มีน้ำเสียถูกปล่อยลงทะเลโดยตรงทำให้สภาพแวดล้อมชายหาดเสื่อมโทรม ปริมาณนักท่องเที่ยวจึงลดน้อยลงจนกระทบต่อเศรษฐกิจของชุมชน ส่วนชุมชนไม่มีพื้นที่พบปะหรือทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ยังพบว่าพื้นที่ริมชายหาดถูกบุกรุกทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม

กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้ดำเนินการโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ชายหาดปราณบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเลพร้อมพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวรวมถึงปรับปรุงสภาพแวดล้อมชายหาดที่เสื่อมโทรมจากสภาพเดิมและพัฒนาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัยได้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะรวมถึงปรับปรุงสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้ โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ชายหาดปราณบุรี ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและสอบถามปัญหา ความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น พร้อมกับมีผู้เชี่ยวชาญทำการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือ IEE เพื่อลดผลกระทบต่อวิถีชีวิตสภาพแวดล้อมของชุมชนให้น้อยที่สุด โดยมีแนวคิดของการออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งคือ เพื่อพัฒนาพื้นที่ปราณบุรี คือการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนในการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเล รวมทั้งมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการออกแบบ เพื่อเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชนอันเป็นการใช้ประโยชน์จากการลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคของรัฐและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตอบสนองกับนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ