แรงงาน แจงสถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น

0
394
image_pdfimage_printPrint

แรงงาน แจงสถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น
…………………………………………………………………………………
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน แจงข้อมูลเรียกสิทธิประโยชน์กรณีเลิกจ้างให้ลูกจ้างกว่า 123 ล้านบาท จากจำนวนลูกจ้าง 4,230 คน ที่ถูกเลิกจ้าง 5 เดือนที่ผ่านมา วิเคราะห์สถานการณ์ การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐบาล
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ( กสร. ) กล่าวว่า สถานการณ์การเลิกจ้าง ในภาพรวมของประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า สถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐบาล ที่เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนภาครัฐและให้สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน ช่วยเหลือสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ และธุรกิจ SMEs กู้ยืมเงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งนโยบายด้านอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวดีขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่างๆ ในส่วนของการเลิกจ้างมีแนวโน้มลดลงโดยจะเห็นได้จากข้อมูลจำนวนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและมายื่นคำร้องลดลง โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีสถานประกอบกิจการที่เลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด 172 แห่ง ลูกจ้างยื่นคำร้องรวม 4,290 คน เงินสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับรวม 123,149,121 บาท สำหรับประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) กิจการประเภทการผลิตและจำหน่าย คิดเป็นร้อยละ 41 2) กิจการประเภทอื่นๆ (เช่น จัดทำเอกสาร ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ) คิดเป็นร้อยละ 15 3) กิจการโรงแรม/สถานบันเทิง/งานบริการ คิดเป็นร้อยละ 11 4) กิจการสื่อสารคมนาคม คิดเป็นร้อยละ 9 และ 5) กิจการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 7 ทั้งนี้ มีสถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มเลิกจ้าง 4 แห่ง ลูกจ้างจำนวน 882 คน
อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้อัตราการเลิกจ้างในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มีจำนวนลดลง โดยในเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2559 มีจำนวนอัตราการเลิกจ้าง 31,570 คน / 30,570 คน / 29,748 คน ลดลงตามลำดับ เดือนมกราคม 2560 มีจำนวน 29,076 คน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากภาพรวมแล้วสถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น
…………………………………………………………………………………