แรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
เพิ่มสิทธิลูกจ้าง สอดคล้องสถานการณ์แรงงาน
กระทรวงแรงงาน โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดสัมมนาไตรภาคีเพื่อรับฟัง
ความคิดเห็น เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. … จัดขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้แทนจากฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กว่า ๒๐๐ คน ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรค ตลอดจนแนวทางการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ในวันอังคารที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพมหานคร
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดงานว่า การปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยและของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นนโยบายสำคัญอีกประการหนึ่งของ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ต้องการให้ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ได้รับการคุ้มครองและมีสภาพการจ้าง การทำงานที่เป็นธรรม มีหลักประกันการทำงานที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามการปรับปรุง แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้เหมาะสมกับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอาจส่งผลกระทบต่อวงการแรงงานในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทราบ รวมทั้ง มีโอกาสในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรค ตลอดจนแนวทางการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้จัดการสัมมนานี้ขึ้น เพื่อให้ผู้แทนจาก
ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง ข้าราชการ นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
รวม ๒๐๐ คน ได้รับทราบถึงหลักการ เหตุผลและเนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
(ฉบับที่..) พ.ศ. …. ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข
ร่างกฎหมายต่อไป
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของ
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีการปรับปรุงและแก้ไขในหลายประเด็นด้วยกัน อาทิ กำหนดอัตราดอกเบี้ย
กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าตอบแทน และเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวจากเดิมซึ่งใช้อัตราร้อยละ ๗.๕ ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เป็นร้อยละ ๑๕ ต่อปี กำหนดให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาตรวจครรภ์โดยได้รับค่าจ้าง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิเรื่องการลากิจไม่น้อยกว่าปีละ ๓ วัน กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้าง
ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๒๐ ปีขึ้นไปให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๔๐๐ วัน กำหนดแก้ไขเพิ่มเติมการกรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการให้รวมถึงกรณีที่นายจ้างมีสาขาอยู่แล้ว เป็นต้น
——————————————–