แรงงาน จัดสัมมนาไตรภาคี รับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายรัฐวิสาหกิจฯ

0
800
image_pdfimage_printPrint

แรงงาน จัดสัมมนาไตรภาคี รับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายรัฐวิสาหกิจฯ

กระทรวงแรงงาน โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดสัมมนาไตรภาคีให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อคิดเห็นร่างกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ณ โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผย ภายหลัง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมนาไตรภาคีเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างพระราชบัญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ….. วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ ว่าพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นกฎหมายหลักที่ใช้การดำเนินกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านแรงงานสัมพันธ์ สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งให้สอดคล้องกับหลักการตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ ๘๗ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว (Freedom of Association and Protection of the Right to Organise) และอนุสัญญาฉบับที่ ๙๘ ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง (Right to Organise and Collective Bargaining) กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้างฝ่ายลูกจ้าง และจ้าหน้าที่ภาครัฐ พิจารณาแก้ไขปรับปรุงจนเป็นร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ…. อย่างไรก็ตามในการตรากฎหมายแต่ละครั้งก็จะมีข้อกำหนดหรือบทบัญญัติบางมาตราที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น กสร.จึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้เป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งส่งผลให้เกิดความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย

รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาไตรภาคีเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ..… ในวันนี้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายบริหาร และฝ่ายลูกจ้างในภาครัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ และผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ จำนวน ๒๐๐ คน จะได้ทราบถึงหลักการ เหตุผล และเนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ..… และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ….. เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะ ประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป

——————————————–