แมนพาวเวอร์กรุ๊ป แนะเคล็ดไม่รับ ฉบับ: ค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง แบบไหนได้-ไม่ได้

0
267
image_pdfimage_printPrint

            ถูกเลิกจ้างแบบไหนที่ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย และแบบไหนที่ไม่ได้รับค่าชดเชย

          การถูกเลิกจ้างโดยได้รับค่าชดเชย ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.   พนักงานที่ครบเกษียณอายุตามข้อบังคับของบริษัท

2.   สุขภาพไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้โดยความเห็นของแพทย์
3.   ด้วยเหตุผลอื่น โดยเหตุผลดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
โดยนายจ้างจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. พนักงาน หรือลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี บริษัทฯ จะจ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา 30 วันสุดท้าย หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  2. พนักงาน หรือลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี บริษัทฯ จะจ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา 90 วันสุดท้าย หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้ายซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  3. พนักงาน หรือลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี บริษัทฯ จะจ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา 180 วันสุดท้าย หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  4. พนักงาน หรือลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี บริษัทฯ จะจ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา 240 วันสุดท้าย หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  5. พนักงาน หรือลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป บริษัทฯ จะจ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราขั้นสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

นอกจากค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับแล้ว ยังมี ค่าชดเชยพิเศษ ที่พึงได้รับในกรณีพิเศษต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. ในกรณีที่บริษัทฯ ย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของพนักงาน ลูกจ้าง หรือครอบครัว ซึ่งบริษัทฯ จะต้องแจ้งให้พนักงานและลูกจ้างรับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ ในการนี้ถ้าพนักงานหรือลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ให้พนักงานหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยพนักงานหรือลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่พนักงานหรือลูกจ้างมีสิทธิพึงได้รับตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ ในกรณีที่บริษัทฯ ไม่แจ้งให้พนักงานและลูกจ้างทราบเกี่ยวกับการย้ายสถานประกอบการกิจการล่วง หน้า บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  2. ในกรณีที่บริษัทฯ จะเลิกจ้างพนักงานหรือลูกจ้างเพราะเหตุที่บริษัทฯ ปรับปรุงหน่วยงานหรือการบริการ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนพนักงานและลูกจ้างลง บริษัทฯ จะแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อของพนักงานและลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน และพนักงานและลูกจ้างที่จะเลิกจ้างได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนจะเลิกจ้าง ในกรณีที่ บริษัทฯ ไม่แจ้งให้พนักงานและลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าที่กำหนด นอกจากจะได้ค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ แล้ว บริษัทฯ จะจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วันสุดท้ายสำหรับพนักงานหรือลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  3. ในกรณีที่บริษัทฯ เลิกจ้างพนักงานหรือลูกจ้างตามข้อ 2. และพนักงานหรือลูกจ้างนั้นทำงานติดต่อกันเกิน 6 ปีขึ้นไป บริษัทฯ จะจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรง งาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 15 วันสุดท้ายต่อการทำงานครบปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณ เป็นหน่วย แต่ค่าชดเชยนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 360 วันสุดท้ายสำหรับพนักงานหรือลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็น หน่วย เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่า ชดเชยพิเศษ กรณีระยะเวลาทำงานไม่ครบ 1 ปีถ้าเศษของระยะเวลาทำงานมากกว่า 180 วัน ให้นับเป็นการทำงานครบ 1 ปี

แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณีที่ลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชย ในบางกรณีนายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย อันเนื่องมาจากกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

  1. กรณีการเสียชีวิต กล่าวคือการที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม
  2. การเลิกจ้างตามกำหนดเวลา คือกรณีการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของบริษัทฯ ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปีโดยบริษัทฯ และลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
  3. การเลิกจ้างระหว่างทดลองงาน คือการที่ลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน โดยมีระยะเวลาการทดลองงานไม่เกิน 119 วัน ทั้งนี้หากมีการต่อระยะเวลาการทดลองงานเกินกว่า 119 วัน ลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118
  4. กรณีทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัทผู้เป็นนายจ้าง
  5. กรณีจงใจทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย
  6. กรณีประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  7. กรณีฝ่าฝืน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของบริษัทฯ อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และบริษัทฯ ได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงที่บริษัทฯ ไม่จำเป็นต้องตักเตือน โดยหนังสือเตือนให้มีผลบังคับใช้ได้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่พนักงานหรือลูกจ้างได้กระทำผิด
  8. กรณีละทิ้งหน้าทีเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
  9. กรณีได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

Credit by Manpower Group (Thailand)

เพียงเท่านี้คุณก็สามารถนำเกร็ดความรู้ที่นำมาฝากไปปฏิบัติได้  การวางแผนและการเตรียมตัวก็จะง่ายมากขึ้น  นี่เป็นแค่เกร็ดความรู้ส่วนหนึ่งในการเตรียมตัวสู่อนาคตการทำงานในโลกกว้าง  หรือถ้าอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมและคำแนะนำเกี่ยวกับการสัมภาษณ์งานกับชาวต่างชาติ  สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ บริษัทแมนพาวเวอร์ โทรศัพท์ 02 634-7081หรือส่งResume มาที่ recruitmentthailand@manpower.th.com