แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ผนึกกำลังภาคการศึกษา มุ่งพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยในอนาคต กับ “โครงการพัฒนาทุนมนุษย์สู่สังคมแห่งอนาคต ปี2” พร้อมรับมือ AEC ในปี 2558

0
313
image_pdfimage_printPrint

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เดินหน้าสานต่อ “โครงการพัฒนาทุนมนุษย์สู่สังคมแห่งอนาคต” ร่วมผนึกกำลังกับภาคการศึกษาไทย โดยปีนี้มีการรวบรวมเครือข่ายพันธมิตรทั้งสิ้น 7 สถาบันการศึกษาชั้นนำ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา, มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กับการมุ่งเน้นศักยภาพแรงงานไทย ทั้งในส่วนของนักศึกษาและกลุ่มบัณฑิตใหม่ ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการ และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการในตลาดแรงงานใหม่ที่ตรงกับสายอาชีพมากขึ้น และเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ในสาขาต่างๆ ในอนาคต เมื่อมีการเคลื่อนย้ายเสรีแรงงานในอนาคต

 ManpowerGroup[1]

มร.ไซมอน แมททิวส์, ผู้จัดการประจำประเทศไทย, แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรต่างๆ มีความต้องการทางด้านแรงงานที่มีคุณภาพ และมีคุณสมบัติที่มากขึ้น อาทิ มีวัยวุฒิ มีทักษะฝีมือในสายงานนั้นๆ มีความสามารถในการทำงานที่หลากหลาย มีการใช้ภาษาต่างประเทศ รวมถึงการมีทัศนคติที่ดี เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงนั้น การหาบุคลากรให้ตรงตามความต้องการขององค์กรในปัจจุบันนั้นค่อนข้างยาก ทำให้การจ้างงานมีความยากยิ่งขึ้นที่จะรับบุคลากรที่ยังไม่มีประสบการณ์ เหตุนี้จึงเป็นผลทำให้เด็กจบใหม่เกิดการว่างงานมากขึ้น โดยเรามีสถิติแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 2 ลักษณะหลักๆ คือ การผลิตกำลังคนไม่เพียงพอกับความต้องการ และปัญหาของคุณสมบัติที่ไม่ตรงกับความต้องการ ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 300,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8  มีระดับการศึกษาที่มีการว่างงานสูงสุดคือ ผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีจำนวน 100,000 กว่าคน  ถือเป็น 1 ใน 3 ของผู้ว่างงานในปัจจุบัน แต่กระนั้นตลาดแรงงานยังคงขาดแคลนบุคลากรในกลุ่มมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายรวมถึงประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปวช. และ ปวส. ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่เป็นที่ต้องการมาก และคาดว่าจะมีความต้องการมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอันใกล้นี้

 

มร.ไซมอน กล่าวอีกว่า  ในภาพรวมสายงานที่เป็นที่ต้องการ และมีทิศทางที่จะเคลื่อนย้ายตามการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  โดยสายงานที่เป็นที่ต้องการจะเป็นแรงงานฝีมือและกลุ่มแรงงานวิชาชีพทั้ง 7 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์, ทันตแพทย์, นักบัญชี, วิศวกร, พยาบาล, สถาปนิค และนักสำรวจ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดีการเคลื่อนไหวด้านแรงงานอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากนัก เนื่องจากยังติดข้อจำกัดในนโยบายของแต่ละประเทศ กับการสนับสนุนคนระดับกึ่งฝีมือขึ้นไปภายในประเทศให้มีงานทำก่อน และข้อจำกัดส่วนบุคคลทางด้านครอบครัว

เหตุนี้จึงเป็นข้อจำกัดทางการเคลื่อนย้ายแรงงานเมื่อเปิด AEC สำหรับกลุ่มสถาบันการศึกษาในปัจจุบันต่างก็ตระหนักและตื่นตัวในการผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพ ให้ได้มาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป เราควรมุ่งพัฒนาหลักสูตร ภาษา ทักษะฝีมือ และการฝึกงานเพื่อให้นักเรียนนักศึกษามีทักษะที่หลากหลาย กอปรกับมีประสบการณ์ก่อนออกสู่ตลาดแรงงาน ด้านบัณฑิตใหม่ ควรมีการวางแผนทางด้านอาชีพทั้งความสนใจ ความถนัดและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน แล้วค่อยพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติเหมาะสมก่อนเข้าสู่อาชีพ และเพื่อแข่งขันกับตลาดแรงงานอาเซียนต่อไป

 

นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า จากการรวมตัวกันของประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ทำให้ตลาดผู้บริโภคและตลาดแรงงานมีขนาดใหญ่ขึ้น แรงงานจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงกว่า 10 เท่า จากที่ไทยเรามี 60 ล้านคน ก็จะกลายเป็น 600 ล้านคน นั่นคือสิ่งที่เราต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานมี 2 กลุ่มหลักคือ แรงงานที่มีฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จากข้อมูลของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้จบการศึกษาในระดับต่างๆ คือความไม่สมดุลกันทั้งในส่วนของปริมาณและคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไม่ทันความต้องการ, คุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการ รวมถึงการเลือกงานทำ ทั้งหมดทำให้เรามองเห็นจุดอ่อนในการวางแผนอาชีพของเยาวชนไทย ไม่ว่าจะเป็นการขาดการแนะนำเรื่องอาชีพต่างๆ, ความก้าวหน้าในสายอาชีพ, อาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด รวมไปถึงความถนัดเฉพาะด้านของแต่ละบุคคล ทำให้เรายังคงปณิธานที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาด้านแรงงาน โดยการจัดการด้านคุณภาพการศึกษาและแรงงาน กับการเป็นที่ปรึกษา แนะนำพร้อมทั้งค้นหาทักษะความสามารถที่แท้จริงเพื่อรองรับตลาดแรงงาน เป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาสายอาชีพ การเลือกงานและองค์กรที่เหมาะสม เป็นการแนะแนวอาชีพให้มีความสอดคล้องกับตลาดแรงงาน เป็นการแนะนำการเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างถูกต้องทุกช่องทาง และเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงตลาดแรงงานกับภาคแรงงานต่อไป

 

โดยในปีที่ผ่านมาการจัด “โครงการพัฒนาทุนมนุษย์สู่สังคมแห่งอนาคต” ภายใต้กิจกรรม The Road to Success in Dream’s Career 2012 กิจกรรม Road Show ที่แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ได้เป็นที่ปรึกษา แนะแนวทางการหาอาชีพ หาสายงานให้ตรงตามความต้องการของตนเอง การฝึกทักษะในการสัมภาษณ์งาน เป็นต้น หลังจบโครงการฯ ในปีที่ผ่านมา สามารถสรุปยอดนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการมีงานทำหลังเรียนจบทั้งสิ้นกว่า 3,500 คน  ถือเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด นับว่าเราประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องปริมาณนักเรียนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานและด้านคุณภาพ ซึ่งนิสิต นักศึกษาที่กำลังก้าวสู่บัณฑิตใหม่ได้มีการเลือกทำงานที่ตรงกับความต้องการของตนเอง และสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง ถือได้ว่า แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปให้ความรู้และแนะนำเรื่องการหางานให้เหมาะกับความต้องการของตนเอง  เราไม่เพียงแต่ให้ความรู้ แต่เรายังเปิดมุมมองในเรื่องอาชีพ และความก้าวหน้าทางอาชีพ เพื่อให้นักเรียนได้วางแผนด้านอาชีพก่อนเรียนจบและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง”

 

นางสาวสุธิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ปีนี้ แมนพาเวอร์กรุ๊ป ดำเนินการต่อยอด “โครงการพัฒนาทุนมนุษย์สู่สังคมแห่งอนาคต ปี 2013” ขึ้น โดยมีการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษาชั้นนำรวมทั้งสิ้น 7 สถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา, มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ  ปีนี้เรามุ่งเน้นนักเรียนนักศึกษาที่กำลังจะจบใน 2 กลุ่มเพื่อเป็นการตั้งรับ AEC และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ในส่วนของแรงงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและแรงงานที่มีฝีมือด้วยการเข้าถึงอย่างง่ายดายผ่านกิจกรรม Roadshow และการเรียนในระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้หลากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นจากทางทีวีดาวเทียม เว็บไซต์ และโทรศัพท์มือถือ

 

อีกประการสำคัญที่เรามองเห็นคือ ทัศนคติของกลุ่มแรงงานในปัจจุบันล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มแรงงาน Generation Y ในช่วงอายุระหว่างปี พ.ศ. 2523 – 2543 จากจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2013 มีจำนวน 64.6 ล้านคน แบ่งเป็น Gen Y จำนวน 16 ล้านคน แบ่งเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2015 กลุ่ม Gen Y จะมีประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ซึ่งการจัดโครงการในครั้งนี้เรามองถึงจุดเด่นและจุดด้อยของบุคลากรในกลุ่ม Gen Y เป็นหลัก มองไปถึงลักษณะนิสัย บุคลิกของคนในกลุ่ม Gen Y ความต้องการในสายงานที่เป็นที่ต้องการ จากผลสำรวจของกลุ่มตัวอย่าง คน Gen Y ต้องการการทำงานเป็นทีม มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไม่ชอบความเคร่งเครียด เคร่งครัด กลุ่มคน Gen Y มีความพร้อมกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีการรับรู้ รับทราบเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน สินค้า การลงทุนสู่ 10 ประเทศอาเซียน แรงงานกลุ่มนี้มีการเตรียมตัว และพัฒนาตัวเองเป็นอย่างดี ทั้งทักษะด้านฝีมือการทำงาน ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ สังคมวัฒนธรรม รวมถึงสังคมในองค์กรที่หลากหลาย เป็นต้น ในจุดนี้เราจึงได้วางแผนดำเนินโครงการฯ ขึ้นอีกครั้งในปี 2013 เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทย  ให้เป็นกำลังสำคัญในการรุกตลาด AEC ต่อไปในอนาคต นางสาวสุธิดา กล่าวสรุป