“มะเร็งตับ” เป็นโรคที่มีความสำคัญที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วโลกและเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้มากที่สุดอีกโรค ซึ่งคร่าชีวิตคนไทยมานานแล้ว ปัจจุบันมะเร็งตับพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สาเหตุสำคัญมาจากไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และภาวะอ้วน หากตรวจพบช้ามีโอกาสเสียชีวิตภายในไม่กี่เดือน ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่ค่อยมีอาการแสดง กว่าจะได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกก็มักอยู่ในระยะท้ายของโรคแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญต้องรู้เท่าทัน – หมั่นตรวจเช็ค – ดูแลสุขภาพตัวเอง และคนใกล้ชิด
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน โรคมะเร็งถือว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทย ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 60,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 8 ราย โดยมีสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก จากสถิติมะเร็งตับฯ คือการตายอันดับ 1 พบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับที่ 3 ของเพศหญิง
“ตับ” เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยกำจัดสารพิษและของเสีย ผลิตน้ำดีในการย่อยอาหาร ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สร้างและเก็บสะสมแป้งและไขมันเพื่อเป็นพลังงาน รักษาสมดุลในร่างกาย ดังนั้น เมื่อเซลล์บริเวณตับมีลักษณะหรือการทำงานผิดปกติแล้วพัฒนาเป็นมะเร็งในที่สุด ซึ่งมักเกิดจากการที่ตับอักเสบพัฒนาอักเสบพัฒนาไปเป็นตับแข็งและเซลล์ตับแข็งพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งตับ ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับมักไม่แสดงอาการจนกว่าจะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการแพร่กระจาย และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ของโรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นระยะที่ยากต่อการรักษา
สาเหตุของมะเร็งตับ เกิดจากภาวะตับแข็งที่มาจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรังทั้งบีและซี การดื่มแอลกอฮอล์ ไขมันเกาะตับ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุที่ทำให้เป็นโรคมะเร็งตับได้ โดยโรคมะเร็งตับมักไม่มีสัญญาณหรืออาการบ่งบอกในระยะแรก จนพัฒนาถึงขั้นแสดงอาการจึงจะสังเกตได้ดังนี้ คือ
– น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
– ไม่อยากอาหาร รู้สึกอิ่มแม้รับประทานไปเพียงเล็กน้อย
– คลื่นไส้อาเจียน
– เจ็บช่องท้องส่วนบน โดยมักจะปวดบริเวณด้านขวา
– มีอาการบวมที่ช่องท้องหรือคลำพบก้อนใต้ชายโครงด้านขวา เนื่องจากตับโต
– เมื่อคลำพบก้อนที่ชายโครงด้านซ้ายเนื่องจากม้ามโต
– ผิวหนังและตาเหลือง (ดีซ่าน)
– อุจจาระอาจมีสีซีดลง
– อ่อนแรงและเหนื่อยล้า
– อาการคันตามร่างกาย
– ไข้เรื้อรัง
การวินิจฉัยก่อนที่จะสาย การตรวจมะเร็งตับสามารถทำได้หลายวิธี คือ
– การตรวจเลือดเพื่อตรวจมะเร็งตับเป็นวิธีตรวจหาค่าโปรตีนที่ผลิตจากเนื้องอกตับ สามารถตรวจหามะเร็งตับในผู้ป่วยได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งตับจะมีค่ามะเร็งตับ (AFP) สูงกว่าปกติ
– การถ่ายภาพตับการวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกน
(CT scan) หรือเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
– การเจาะชิ้นเนื้อตับทำได้โดยการเก็บตัวอย่างจากก้อนที่สงสัยที่ตับเพื่อส่งตรวจเพิ่มเติมว่าจะเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ ในกรณีที่ผลตรวจการถ่ายภาพและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ระบุแน่นอนแล้วว่าเป็นมะเร็งตับก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจอีก
การรักษาโรคมะเร็งตับ แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่ทำได้ โดยพิจารณาจากสุขภาพของผู้ป่วย ระยะของโรคมะเร็งตับ ขนาดของก้อนมะเร็ง จำนวนของก้อนมะเร็ง ค่าการทำงานของตับ โดยมีวิธีการรักษา ดังต่อไปนี้
– การผ่าตัด ในระยะเริ่มแรก เมื่อเนื้องอกยังมีขนาดเล็กและอยู่ในส่วนเล็ก ๆ ของตับ การรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเอาเนื้อส่วนที่มีมะเร็งออก หรือตัดตับบางส่วน
– การผ่าตัดเปลี่ยนตับ วิธีนี้สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับระยะเริ่มแรกที่มีเนื้องอกขนาดเล็กและมีจำนวนไม่มาก
– รังสีรักษา การรักษาด้วยการฉายรังสีพลังงานสูง เช่น รังสีเอกซเรย์และโปรตอนตรงไปยังเซลล์เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งและทำให้เนื้องอกหดตัวเล็กลง
– เคมีบำบัด การให้ยารับประทานหรือฉีดยาฆ่าเซลล์มะเร็งไปยังหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง
– Ablative Therapyการฆ่าเซลล์มะเร็งโดยการฉีดสารเข้าไปที่เนื้อร้ายโดยตรง สารที่ใช้ฉีดอาจเป็นความร้อน เลเซอร์ กรด หรือแอลกอฮอล์ชนิดพิเศษ หรืออาจใช้คลื่นวิทยุก็ได้
– การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็งเป็นวิธีการใช้ยาเพื่อชะลอหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ โดยเจาะจงกับเซลล์ที่มีความผิดปกติมากขึ้นกว่าการทำเคมีบำบัดทั่วไป
การป้องกันโรคมะเร็งตับ โดยลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งตับ โรคตับแข็งที่สัมพันธ์กับมะเร็งตับ การป้องกันมะเร็งตับจึงควรลดปัจจัยที่นำไปสู่โรคตับแข็งด้วย เช่น งดดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไปโดยรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปริมาณไขมันที่บริโภค และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี การป้องกัน ทำได้ด้วยการฉีดวัคซีน ส่วนไวรัสตับอักเสบ ซี ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการติดต่อเชื้อทั้ง 2 ชนิดจากผู้อื่นทำได้โดยการสร้างสุขอนามัยที่ดี เช่น ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และซี ไม่ใช้เข็มฉีดยา หรือเข็มที่ใช้สักลายตามร่างกายร่วมกับผู้อื่น
ทั้งนี้ มะเร็งตับไม่ใช่โรคไกลตัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ นอกจากการดูแลสุขภาพด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆแล้วนั้น การตรวจสุขภาพเป็นประจำคือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการตรวจไวรัสตับอักเสบบีและซี รวมถึงเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งตับได้เป็นอย่างดี
รพ.ราชวิถี รักษาผู้ป่วยมะเร็งตับและมีผู้ป่วยมะเร็งฯ ที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศจำนวนมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ บุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องรักษาอาจต้องรอคิวการรักษายาวนานซึ่งการรอเพื่อรับการรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งเหล่านี้ เป็นปัญหาสำคัญ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วโอกาสที่จะหาย สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน มาร่วมต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยที่รอโอกาสทางการรักษาโรคมะเร็ง ใน “กองทุนพิชิตมะเร็ง มูลนิธิรพ.ราชวิถี” โดยสามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี” หมายเลขบัญชี 0512163221 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หรือ สอบถามโทร 02-3547997-9หรือ www.rajavithifoundation.com