แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ผนึกกำลัง สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เปิดตัว “กลุ่มสัมพันธ์เบาหวาน Thai DM Friends: TDF”
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ผนึกกำลัง สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เปิดตัว “กลุ่มสัมพันธ์เบาหวาน Thai DM Friends: TDF” รณรงค์คนไทยเรียนรู้อยู่อย่างปลอดภัย ห่างไกลโรคเบาหวาน
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เปิดตัว “กลุ่มสัมพันธ์เบาหวาน Thai DM Friends: TDF” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนความรู้เสริมสร้างความเข้าใจ และยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษา และขยายการเข้าถึงการรักษาโรคเบาหวาน สู่สังคมสุขภาพอย่างยั่งยืน
ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “กลุ่มสัมพันธ์เบาหวาน Thai DM Friends: TDF ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับกลุ่มคนไข้เบาหวานในวันนี้ ภายใต้การกำกับและดูแลของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) จากการเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคเบาหวาน และด้วยความห่วงใยในสุขภาพของคนไทยที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน และยังคงมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา โดยกลุ่มสัมพันธ์เบาหวานฯ ที่เปิดตัวในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญและองค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ให้แก่ ผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลผู้ป่วย อีกทั้งยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษา และขยายการเข้าถึงการรักษาโรคเบาหวาน และเพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มสัมพันธ์เบาหวาน Thai DM Friends: TDF ได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้โครงการ Early Action in Diabetes Thailand (EAiD) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของหน่วยงานระดับสากลที่ร่วมรณรงค์ให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้คนทั่วโลก รวมถึงประชาชนชาวไทยได้หันมาตระหนักรู้ต่อผลกระทบจากโรคเบาหวาน เพื่อให้ได้รับการป้องกัน และรักษาอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา”
“กลุ่มสัมพันธ์เบาหวาน Thai DM Friends: TDF เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ อุ่นใจเมื่อใกล้แพทยสมาคมฯ (Patient Support Groups หรือ PSG) โดยโครงการประกอบด้วยคณะทำงานย่อย 7 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน 2) กลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง 3) กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 4) กลุ่มผู้ป่วย COPD 5) กลุ่มผู้ป่วยเปลี่ยนเข่า 6) กลุ่มผู้สูงอายุ และ 7) กลุ่มผู้ป่วย Bi-polar โดยทั้ง 7 กลุ่ม นั้นมีหน่วยงานที่สำคัญทั้งคณะแพทย์ที่ปรึกษา ตัวแทนจาก แพทยสมาคม และสมาคมแพทย์ต่างๆ ในสาขาที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนคนไข้ และกลุ่มผู้ดูแลคนไข้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของโรคต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ รวมถึงให้ผู้ป่วยและครอบครัวที่ได้รับการดูแลรักษา ได้แบ่งปันประสบการณ์ความรู้ไปยังผู้ป่วยและผู้ดูแลรายอื่นๆ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในโรค และการดูแลรักษา รวมไปถึงความเข้าใจในกระบวนการรักษาพยาบาลต่อสาธารณชน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี (2561 – 2562)1” ศ.นพ. รณชัย กล่าวเสริม
ด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ. วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันประชากรไทยวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน และหลายรายเกิดภาวะแทรกซ้อนในเวลาต่อมา ซึ่งในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน รวมกันแล้วกว่า 5 ล้านคน และอีกกว่า 415 ล้านคนยังต้องเผชิญกับโรคเบาหวาน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 50 ที่ได้รับการวินิจฉัย และยังมีคนไข้อีกเป็นจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนเพราะได้รับการวินิจฉัยล่าช้า นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2583 ยอดผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานเฉลี่ยปีละกว่า 8,000 คน โดยในปี 2557 มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 หรือ 4.8 ล้านคน สูงกว่าปี พ.ศ. 2552 ซึ่งมีร้อยละ 6.9 หรือ 3.3 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือ มีคนไทยมากถึง 2 ล้านคนที่เป็นโรคเบาหวานแต่ไม่ทราบว่าตนเองเป็น และยังไม่เข้าถึงการรักษา และยังมีอีก 7.7 ล้านคน ที่อยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยงของโรคเบาหวาน จากสถิติ ในปี 2558 โรคเบาหวานพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และ 2 ใน 5 ของหญิงที่เป็นโรคเบาหวาน อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ (ประมาณ 60 ล้านคนทั่วโลก) สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) คาดการณ์ว่ามีจำนวนถึง 20.9 ล้านคน หรือ 16.2% ของหญิงตั้งครรภ์ ที่มีภาวะน้ำตาลสูงในเลือด โดย 85.1% วินิจฉัยเป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) และ7.4% เป็นโรคเบาหวานชนิดอื่นที่ตรวจพบตอนตั้งครรภ์ ส่งผลให้ 1 ใน 7 ทารก คลอดจากแม่ที่เป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ และหญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากขึ้นจะยิ่งเสี่ยงต่อน้ำตาลสูงในเลือดมากขึ้น”
“นอกจากนี้ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้ตระหนักและระดมความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วนดำเนินการสร้าง เครือข่ายชมรมเบาหวานในประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงชมรมเบาหวานที่มีอยู่บ้างแล้วเข้าด้วยกันมาตั้งแต่ปี 2557 และได้ร่วมกับโรงพยาบาลในภูมิภาคต่างๆ ให้มีการจัดตั้งชมรมเบาหวาน เพิ่มขึ้นและเชื่อมโยงชมรมทั้งหมดเป็น “เครือข่ายชมรมเบาหวาน” เพื่อให้เกิดการพัฒนาการดูแลรักษาและควบคุมโรคเบาหวาน ครอบคลุมทั้งประเทศ และเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อให้เสียงของเครือข่ายฯ ดังไปถึงระดับสากล แพทยสมาคมฯ ร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานฯ จึงได้คัดเลือกบุคคลระดับผู้นำจำนวน 10 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่ม และเครือข่ายเบาหวานในประเทศไทย ดำเนินการภายใต้เกณฑ์ของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) โดยการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อยู่ภายใต้การดูแลและกำกับของคณะแพทย์ที่ปรึกษาจากหน่วยงานต่างๆ” ศ.เกียรติคุณ พญ. วรรณี กล่าวในที่สุด
“อนึ่ง โครงการ อุ่นใจเมื่อใกล้แพทยสมาคมฯ (Patient Support Groups หรือ PSG) เป็นหนึ่งในโครงการที่ริเริ่มและดำเนินการ โดยแพทยสมาคมฯ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยแพทยสมาคมฯ ได้ดำเนินงานผ่านมาเกือบ 100 ปี ซึ่งนับได้ว่าได้รับการสนับสนุนจากปูชนียบุคคลหลายท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ศ.เกียรติคุณ พญ. สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ท่านยังเป็นสตรีท่านแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกแพทยสมาคมฯ และยังไม่มีสตรีท่านใดได้ดำรงตำแหน่งนี้อีกจวบจนถึงปัจจุบัน”