แนวคิดธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Business) คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจอาเซียน

0
288
image_pdfimage_printPrint

ในภูมิภาคอาเซียนเริ่มมีธุรกิจที่ส่งอิทธิพลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการสร้างรายได้ รวมถึงการนำเสนอสินค้าและบริการราคาย่อมเยาให้แก่ชุมชนที่มีรายได้ต่ำ ธุรกิจเหล่านี้เรียกว่าธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Business) ซึ่งเป็นมากกว่าการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพราะมีการดึงเอาคนจนมาเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ ทั้งในฐานะผู้จัดหาสินค้า ผู้กระจายสินค้า ผู้บริโภค และผู้ค้าปลีก ปัจจุบัน ภูมิภาคอาเซียนมีประชากรยากจนราว 332 ล้านคน และบริษัทที่ใช้แนวคิดธุรกิจแบบมีส่วนร่วมสามารถเข้าถึงคนยากจนส่วนใหญ่ได้

คุณเซเฟริโน โรดอลโฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าฟิลิปปินส์และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า “แนวคิดธุรกิจแบบมีส่วนร่วมช่วยสร้างงานและนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำ ทั้งยังช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายประชาคมอาเซียนปี 2568 นั่นคือ การทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง”

ปัจจุบัน บริษัทที่มีแนวคิดธุรกิจแบบมีส่วนร่วมนั้น มีไม่ถึง 1% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดนอกภาค Informal Sector ของอาเซียน แต่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถดึงดูดนักลงทุนผู้ทรงอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เกือบ 60% ซึ่งบริษัทเหล่านี้ส่งผลดีต่อประชากรหลายล้านคนในหลายๆด้าน เช่น สุขภาพ น้ำ พลังงาน และที่อยู่อาศัย เป็นต้น

แนวคิดธุรกิจแบบมีส่วนร่วมส่งอิทธิพลสูงสุดต่อภาคการเกษตร ยกตัวอย่างกลุ่มบริษัทอูรมัต (Urmatt Group) ในประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยกว่า 3,000 ราย ได้ผลิตข้าว เมล็ดเจีย และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวแบบออร์กานิก และบริษัท Kennemer Foods International (KFI) ในฟิลิปปินส์ ที่ช่วยฝึกอบรมรวมถึงมอบวัสดุเพาะปลูกคุณภาพสูงและเทคโนโลยีการเกษตรให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้จำนวน 10,000 ราย

ในอาเซียนนั้น แนวคิดธุรกิจแบบมีส่วนร่วมส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้โดยบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ แต่ก็อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเงินทุนจำนวนมากในการต่อยอดและมีผลต่อสังคมน้อยกว่า

ประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีกฎหมาย CSR ที่เข้มงวดในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการกำหนดนโยบายสำหรับธุรกิจแบบมีส่วนร่วม ขณะที่เวียดนามก็มีนโยบายและโครงการต่างๆ สำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ที่สามารถนำมาใช้ร่วมกับแนวคิดธุรกิจแบบมีส่วนร่วมได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยและสิงคโปร์ก็มีความตื่นตัวอย่างมากในการสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นธุรกิจแบบมีส่วนร่วมได้

คุณโรดอลโฟเปิดเผยว่า การยกระดับการเข้าถึงข้อมูลและแหล่งเงินทุน รวมถึงการเสนอผลตอบแทนทางการเงินเพื่อจูงใจ จะเป็นขั้นตอนต่อไปที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถทำได้เพื่อสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการลงทุนในธุรกิจแบบมีส่วนร่วม

สื่อมวลชนติดต่อ:

Anthony Quijano
Media Relations Manager
TeamAsia
+63 917 824 9109