1

แคสเปอร์สกี้ แลป เชิญชวนคนไทยร่วมประกวด Goondus Awards

แคสเปอร์สกี้ แลป เปิดตัวแคมเปญชื่อ “กูนดูส์ อวอร์ดส์” (Goondus Awards) สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อให้ความรู้และกระจายความตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ต โดย “กูนดูส์ อวอร์ดส์” เปิดเชิญชวนให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตส่งเรื่องราวข้อผิดพลาดและการประพฤติตัวแบบผิดๆ ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ตนเองเสียชื่อเสียงหรือทรัพย์สินเงินทอง โดยจะไม่เปิดเผยชื่อจริงเมื่อแบ่งปันประสบการณ์แก่สาธารณชน

ซิลเวีย อึง ผู้จัดการทั่วไป แคสเปอร์สกี้ แลป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เราต้องการให้ความรู้แก่ผู้ใช้เรื่องพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และเพื่อแสดงให้เห็นตัวอย่างพฤติกรรมที่ผิดพลาดที่ทำให้เกิดความเสียหาย บางเรื่องอาจฟังแล้วตลกขบขัน ฟังแล้วไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริง และในหลายๆ เคสก็สร้างความเสียหายได้มาก เราหวังว่าการแบ่งปันเรื่องราวโดยไม่ระบุชื่อจะช่วยกระตุ้นเตือนและสร้างแนวทางปฏิบัติที่ปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต”

“กูนดูส์ อวอร์ดส์” จะเผยแพร่เรื่องราวหลากหลายแง่มุมที่มีผู้ใช้พบเจอมาแล้ว เพื่อช่วยกระตุ้นความตระหนักรู้เรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ระหว่างเพื่อนสองคนที่ใช้บัตรเติมเงิน iTune ที่ตกเป็นเหยื่อกลโกงโจรขโมยตัวตนหลอกให้เพื่อนเติมเงินให้โดยที่เจ้าของบัตรตัวจริงไม่เคยขอให้ทำ ซึ่งเหตุการณ์นี้ จะช่วยทำให้ผู้ใช้คนอื่นๆ ได้รู้ว่า โจรขโมยตัวตนไม่ใช่เรื่องไกลตัว และอาจนำไปสู่การสูญเสียเงินทองอีกด้วย

ผู้สนใจสามารถส่งเรื่องเข้าประกวดได้ที่เว็บไซต์ http://goondusawards.com เพียงกรอกข้อมูลชื่อ อีเมลแอดเดรส หมายเลขโทรศัพท์ ประเภทของเรื่อง ชื่อเรื่อง และรายละเอียดของเหตุการณ์

หลักเกณฑ์การส่งเรื่องเข้าประกวดคือ ต้องเป็นเหตุการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นจริงและทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็น 1) iPad 3 Mini 2) Samsung Tablet 3) Jays earphones พร้อมด้วยรางวัลพิเศษในแต่ละเดือนเป็นกระเช้าของพรีเมี่ยมจากแคสเปอร์สกี้ แลป

นอกจากการแบ่งปันเรื่องราวโดยไม่ระบุชื่อผู้ใช้แล้ว ในเว็บไซต์ยังมีข้อมูลเกร็ดความรู้เรื่องกลโกงประเภทต่างๆ เพื่อแนะนำผู้ใช้ว่าควรป้องกันตัวเองจากเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไรอีกด้วย

จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA พบว่า ผู้ใช้ทุกช่วงวัยประสบภัยไซเบอร์เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2558 ในส่วนของปัญหาที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่าผู้ใช้พบปัญหาอีเมลสแปมหรืออีเมลขยะ 13% (10.8% ในปี 2558) ถูกรบกวนด้วยสื่อลามกอนาจาร 12.1% (8.4%) ติดไวรัสคอมพิวเตอร์ 8.9% (8.8%) ถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือความเป็นส่วนตัว 3.2% (2.0%) และถูกหลอกลวงบนอินเทอร์เน็ต 1.5% (1.2%) และแม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นั่นคือ ความล่าช้าในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (70.3%) และโฆษณาที่มารบกวน (50.7%) แต่สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือ ผู้ใช้ถูกรบกวนด้วยสื่อลามกอนาจาร