กระทรวงแรงงาน เผยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เกิดความยืดหยุ่น
ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อใช้บังคับแก่แรงงานเฉพาะกลุ่ม เพิ่มโอกาสการทำงานให้แก่นักเรียน นักศึกษา คนพิการ และผู้สูงอายุ
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงาน โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีการแก้ไข ปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติรับหลักการในวาระแรกของร่างกฎหมายแล้ว โดยสาระสำคัญที่มีการปรับปรุงแก้ไขในร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวที่สำคัญประการหนึ่งคือ การให้อำนาจคณะกรรมการค่าจ้างในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อใช้บังคับกับแรงงานเฉพาะกลุ่ม เช่น นักเรียน นักศึกษา คนพิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการขับเคลื่อน 8 วาระปฏิรูปของกระทรวงแรงงาน ในการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ สร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง สำหรับ นักเรียน นักศึกษา ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา และอาจมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป จะก่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจ้างงาน ส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้มีโอกาสได้รับการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น มีความมั่นคงในชีวิตและมีศักยภาพในการดูแลตนเองสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ในการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว ยังกำหนดให้นายจ้างไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับฯ ให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อลดภาระของนายจ้าง เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยในการลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจ ซึ่งส่งผลดีต่อการจูงใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล และเมื่อมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นก็จะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย