เมื่อวัตถุดิบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างเช่นน้ำมันปาล์มและน้ำมันเมล็ดในปาล์มถูกนำไปใช้ ความสนใจจะอยู่ที่ด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางสังคมตลอดห่วงโซ่อุปทาน จากสวนถึงชั้นวางขาย สวนปาล์มขนาดเล็กผลิตน้ำมันปาล์มและน้ำมันเมล็ดในปาล์มในโลก ราว 40 เปอร์เซ็นต์ คำถามที่สำคัญสำหรับประเทศที่ผลิตน้ำมันปาล์มก็คือ ทำอย่างไรที่จะเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกอยู่แล้ว นี่คือเหตุผลที่เฮงเค็ล และบีเอเอสเอฟ (BASF) ร่วมมือกับองค์กรเพื่อการพัฒนา โซลิดาริดาด (Solidaridad) เพื่อสนับสนุนโครงการในประเทศอินโดนีเซีย และเป็นกระบอกเสียงให้แก่เกษตรกรรายย่อยและความริเริ่มในท้องถิ่น
ฝึกอบรมเกษตรกรกว่า 5,500 คน
วิธีทำการเกษตรแบบยั่งยืน การผลิตที่มีประสิทธิภาพ และมาตรฐานความปลอดภัย และอาชีวอนามัยขั้นสูง คือเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดสำหรับการผลิตน้ำมันปาล์มที่ได้รับการอนุญาต เกษตรกรรายย่อยสามารถเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ในท้องถิ่น ผ่านทางโครงการฝึกอบรมเฉพาะ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 เฮงเค็ลสนับสนุนโครงการระยะ 5 ปีในจังหวัดกาลิมันตันตะวันตก ในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บีเอเอสเอฟได้เข้าร่วมผนึกกำลังในฐานะพาร์ทเนอร์ทางอุตสาหกรรมเพิ่มเติม โครงการสำหรับเกษตรกรรายย่อยนี้ถูกนำไปปฏิบัติโดยโซลิดาริดาด ด้วยความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ขององค์กร คือ กู๊ด รีเทิร์น (Good Return) และ เครดิต ยูเนี่ยน คีลิ่ง คูมัง (Credit Union Keling Kumang หรือ CUKK) กู๊ด รีเทิร์น ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนจากออสเตรเลียช่วยฝึกสอนและสนับสนุนคณะครูผู้ดำเนินการฝึกอบรมหน้างาน และจะเป็นผู้สานต่อโครงการสนับสนุนเกษตรกรหลังจากโครงการฝึกอบรมของบริษัทสิ้นสุด คณะครูเหล่านี้เป็นพนักงานของ เครดิต ยูเนี่ยน คีลิ่ง คูมัง ซึ่งเป็นบริษัทเครดิตท้องถิ่นที่ใหญ่เป็นอันดับสองในอินโดนีเซีย
ผ่านทางโครงการนี้ โซลิดาริดาดและพาร์ทเนอร์ต้องการที่จะสร้างห่วงโซ่อุปทานอันยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและน้ำมันเมล็ดในปาล์ม ซึ่งจะช่วยพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยพร้อมๆกับช่วยให้พวกเขามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสวนปาล์ม ตามหลักเกณฑ์ของมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (the Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือ RSPO) เกษตรกรรายย่อยราว 1,600 รายจากจำนวนทั้งหมด 5,500 รายจะได้รับการติดต่อจากทางโครงการ พวกเขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของการทำการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice หรือ GAP) ในการฝึกอบรมโดยตรง ซึ่งรวมไปถึงมาตรการเพื่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืน และการเพิ่มผลผลิต นอกจากนั้น เกษตรกรรายย่อยราว 3,900 ราย จะได้รับการสนับสนุนไม่เพียงแต่ผ่านทางตัวทวีคูณทางรายได้ แต่ยังได้รับการติดต่อจากโครงการผ่านทางกิจกรรมวันลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเกษตรกรและข้อความทางโทรศัพท์มือถือ โครงการนี้ครอบคลุมสวนปาล์มกว่า 16,000 เฮกเตอร์
ความมุ่งมั่นร่วมกันสู่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอันยั่งยืน
“เราต้องการเปลี่ยนแปลงตลาดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอันยั่งยืน ในการที่จะทำเช่นนั้น เราต้องการการแก้ปัญหาและโครงการที่จะช่วยให้ชาวสวนปาล์มรายเล็กเพิ่มผลผลิตในสวนของพวกเขา และเรากำลังมีส่วนร่วมอย่างสำคัญโดยการสนับสนุนพาร์ทเนอร์และความริเริ่มในท้องถิ่น” ทอมัส มูเลอร์-เคียร์ชบาวม์ รองประธานอาวุโส ธุรกิจผลิตภัณฑ์ซักล้างและผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน และรองประธานคณะกรรมการด้านความยั่งยืนของเฮงเค็ล กล่าว “ด้วยการสนับสนุนจากบีเอเอสเอฟในฐานะพาร์ทเนอร์ทางอุตสาหกรรมเพิ่มเติมในโครงการเพื่อเกษตรกรรายย่อยนี้ เราได้ส่งสัญญาณว่าเราจะผนึกกำลังร่วมกันเพื่อทำตลาดน้ำมันปาล์มให้ยั่งยืนยิ่งขี้น”
“บีเอเอสเอฟ คือหนึ่งในผู้ผลิตส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในจุดเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุปทานน้ำมันปาล์ม จากเกษตรกรรายย่อยสู่ผู้บริโภค เราเชื่อว่าเราสามารถค้นพบหนทางสู่ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนและได้รับการรับรอง ด้วยการทำงานร่วมกันเพื่ออนุรักษ์ป่าและพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรม” ยาน ปีเตอร์ ซานเดอร์ รองประธานอาวุโส กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว ยุโรป ของบีเอเอสเอฟ กล่าว “นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ของเรา และทำไมเราจึงอยากมีส่วนรวมกับเกษตรกรรายย่อย โครงการในจังหวัดกาลิมันตันตะวันตกนี้เป็นก้าวที่สำคัญที่จะพาเราไปในทิศทางนั้น”
ผลผลิตที่สูงขึ้น และรายได้ที่เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรรายย่อย
ผลผลิตของสวนปาล์มขนาดเล็กในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผลผลิตจากบริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย มาตรการต่างๆ อาทิ การฝึกอบรมวิธีทำการเกษตรแบบยั่งยืนให้แก่เกษตรกร ถูกคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย “เรามีความยินดีที่เฮงเค็ลและบีเอเอสเอฟสนับสนุนโครงการนี้ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันตก” มาเรียเคอ ลีควาเตอร์ ผู้จัดการโครงการน้ำมันปาล์ม โซลิดาริดาด กล่าว “เราคิดว่านี่คือการทำเพื่อผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ในการที่บริษัทต่างๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มมีส่วนรับผิดชอบนอกเหนือจากแค่การซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มอันยั่งยืน และอุทิศตนในการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและครอบคลุม โครงการนี้ทำให้เกิดการสร้างห่วงโซ่อุปทานอันยั่งยืนที่ครอบคลุม และเราคาดหวังที่จะสร้างการพัฒนาที่สำคัญให้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรปาล์มน้ำมันรายย่อยในจังหวัดกาลิมันตันตะวันตก ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ยากจนที่สุดในอินโดนีเซีย”
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชม www.henkel.com/palmoil และ http://bit.ly/palm-dialog