สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ชี้ความปลอดภัยของสัญญาณโทรศัพท์มือถือผ่านเสวนา “ความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณ และโทรศัพท์มือถือมีผลต่อสุขภาพหรือไม่”
สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย จัดเสวนา “ความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณและโทรศัพท์มือถือมีผลต่อสุขภาพหรือไม่” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และความปลอดภัยของคลื่นจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือแก่ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป อาทิ การเพิ่มจำนวนเสาสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ หรือการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร พร้อมเปิดตัวหนังสือ “ความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณและโทรศัพท์มือถือมีผลต่อสุขภาพหรือไม่” โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล นายกสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) กล่าวเปิดงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชย ไทยเจียม บรรณาธิการหนังสือร่วมเสวนา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ระบบการสื่อสารโดยใช้โทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคดิจิตัล และยังเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ กสทช. ในฐานะองค์กร ที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่และส่งเสริมให้มีบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศแล้ว ยังทำหน้าที่กำกับดูแล กำหนดค่ามาตรฐาน และตรวจวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบสถานีฐาน
“จากการตรวจวัดค่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐาน จำนวน 40 สถานี ในพื้นที่ 5 ภูมิภาค พบว่ามีค่าต่ำกว่าขีดจำกัดตามที่มาตรฐานกำหนดไว้มาก เช่น ย่านความถี่คลื่น 900 MHz. ความแรงต้องไม่เกิน 41 โวลท์ต่อเมตร ย่านความถี่ 1800 MHz. ความแรงต้องไม่เกิน 58 โวลท์ต่อเมตร และย่านความถี่ 2100 MHz. ความแรงต้องไม่เกิน 61 โวลท์ต่อเมตร ดังนั้นการแผ่คลื่นจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือจึงปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ หนังสือ “ความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณและโทรศัพท์มือถือมีผลต่อสุขภาพหรือไม่” โดย สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย จึงจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้ความรู้
สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ในประเด็นผลกระทบของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากระบบโทรศัพท์มือถือต่อร่างกายของมนุษย์ ตลอดจนให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้งานโทรศัพท์มือถืออย่างถูกต้องอีกด้วย”
ผศ.ดร.ชาญไชย ไทยเจียม กรรมการ สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย กล่าวว่า “ในทางทฤษฎี คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีอยู่ 2 ประเภท คือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากลุ่มชนิดไม่ก่อไอออน (Non-ionizing radiation) ไม่ก่อให้อะตอมมีการแตกตัวเป็นไอออน ซึ่งย่านความถี่ใช้งานของโทรศัพท์มือถือและความถี่คลื่นวิทยุกระจายเสียง สัญญาณ WI-FI เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายจัดให้อยู่ในกลุ่มประเภทนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่มีผลกระทบในเชิงความร้อนเท่านั้น โดยองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าประเภทนี้ อยู่ในกลุ่ม 2B ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับน้ำมันมะพร้าวที่ผสมกับไดเอทาโนลาไมด์ (Diethanolamide) สำหรับทำให้เกิดฟองในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจำพวกแชมพู สบู่ และเครื่องสำอาง ส่วนคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากลุ่มชนิดก่อไอออน (Ionizing – radiation) เป็นคลื่นที่ทำให้อะตอมเกิดการแตกตัวเป็นไอออน และมีผลต่อการแยกอนุภาคอิเล็กตรอนออกไปกลายเป็นอนุมูลอิสระได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง เช่น รังสีแกมมา รังสีเอ็กซ์ เป็นต้นนั้น การติดตั้งและการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เป็นชนิดไม่ก่อไอออนที่มีกำลังใช้งานต่ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกรายมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของ กสทช. ซึ่งหากประชาชนมีข้อมูล และเข้าใจเรื่องการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็จะเกิดความเข้าใจเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย และช่วยคลายความวิตกกังวลลงได้มาก
ศาสตราจารย์ นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล นายกสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย กล่าวว่า หนังสือ “ความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการใช้โทรศัพท์มือถือจากเสาสัญญาณและโทรศัพท์มือถือมีผลต่อสุขภาพหรือไม่” เกิดจากการรวบรวมองค์ความรู้จากหลายแหล่งข้อมูลทั้งในและต่างประเทศที่ได้ศึกษาในเรื่องผลกระทบสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากระบบโทรคมนาคมกันอย่างแพร่หลายเพื่อคลายความกังวลใจของประชาชน ข้อมูลทั้งหลายได้ถูกรวบรวม วิเคราะห์ เรียบเรียง และถ่ายทอดโดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาในคณะทำงานในสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นแรกที่สมาคมได้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค และให้ความรู้ทางวิชาการด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์แก่ประชาชนชาวไทยอีกด้วย
“สมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือ “ความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการใช้โทรศัพท์มือถือจากเสาสัญญาณและโทรศัพท์มือถือมีผลต่อสุขภาพหรือไม่” เล่มนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นความรู้ที่ให้ความมั่นใจในการใช้ชีวิตในยุคดิจิตัลได้อย่างปลอดภัยและไร้กังวล อีกทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง ครอบครัว ชุมชน และนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป”
หนังสือ “ความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการใช้โทรศัพท์มือถือจากเสาสัญญาณและโทรศัพท์มือถือมีผลต่อสุขภาพหรือไม่” จัดพิมพ์โดยสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยเป็นแบบสี จำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปในราคาเล่มละ 75 บาท ท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล์ chanchai_thaijiam@yahoo.com หรือโทรศัพท์ 087 757 8638