– โครงการ nextBioPharmDSP Horizon 2020 นำโดย Lek Pharmaceuticals บริษัทในเครือ Sandoz ในสโลวีเนีย ตอกย้ำความสำเร็จด้านการวิจัยและนวัตกรรม
– รายงานความคืบหน้า 18 เดือนต่อสหภาพยุโรป
– เมอร์คมอบความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการปลายน้ำที่ต่อเนื่องและลื่นไหล รวมถึงระบบแบบใช้ครั้งเดียว
เมอร์ค ( Merck ) บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ เผยความคืบหน้าของการมีส่วนร่วมในโครงการ Horizon 2020 ซึ่งเป็นโครงการด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรป เพื่อยกระดับกระบวนการปลายน้ำด้านชีวเภสัชภัณฑ์
อูดิท บาทรา สมาชิกคณะกรรมการบริหารของเมอร์ค และซีอีโอกลุ่มธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) กล่าวว่า “อุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์กำลังเผชิญกับแรงกดดันในการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น ขณะที่ยังคงมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทอย่างเมอร์คและลูกค้าของเราจำเป็นต้องช่วยรับมือกับความท้าทายในอุตสาหกรรม และเร่งกระบวนการส่งมอบยาให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องการ ทั้งนี้ บรรดาสมาชิกของโครงการ Horizon 2020 ได้สร้างความก้าวหน้าที่สำคัญต่อกระบวนการปลายน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
ผลของความร่วมมือจะครอบคลุมถึงการลดขนาดและจำนวนของหน่วยปฏิบัติการปลายน้ำ รวมถึงการเลิกใช้เครื่องหมุนเหวี่ยง นอกจากนี้ การใช้วิธีทางเลือกสำหรับขั้นตอนการเก็บคาดกว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความจำเป็นในการใช้เรซินปริมาณมากที่มีราคาแพง ขณะเดียวกันก็กำลังมีการศึกษาการเก็บผ่านกระบวนการตกตะกอน เพื่อทดแทนการทำโครมาโตกราฟีโปรตีนชนิด A
ระบบโครมาโตกราฟีแบบต่อเนื่องและทิ้งได้ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาด้วยเครื่องมือและเซ็นเซอร์วิเคราะห์ใหม่ๆ ซึ่งถูกนำไปใช้ในส่วนอื่นๆของกระบวนการปลายน้ำด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งสำหรับกระบวนการปลายน้ำจะถูกประเมินและผ่านกระบวนการเพื่อนำเอาสิ่งเจือปนออกไปอย่างต่อเนื่อง และกระบวนการดังกล่าวจะถูกนำไปผนวกเข้ากับกระบวนการปลายน้ำแบบใช้ครั้งเดียวที่ต่อเนื่องและเชื่อมต่อกัน
อูรอส เออร์เลบ หัวหน้าฝ่ายพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึงทางเทคนิคสากล แผนกพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพทางเทคนิคของ Novartis กล่าวว่า “กระบวนการชีวภาพรุ่นใหม่จะช่วยยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมในการผลิตยาคุณภาพสูงอย่างมีประสิทธิภาพในราคาคุ้มทุน กลุ่มความร่วมมือดังกล่าวกำลังส่งมอบวิธีการใหม่ที่พลิกโฉมกระบวนการผลิตแบบเดิม และเราหวังว่าผลของความพยายามของเราจะช่วยตอบสนองความต้องการด้านกำลังการผลิตอันหลากหลาย เปิดทางให้เกิดการผลิตยาอย่างยั่งยืน และมอบประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง”
nextBioPharmDSP เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Horizon 2020 ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรปในบรรดาโครงการประเภทเดียวกัน และมีเงินทุนสนับสนุนเกือบ 8 หมื่นล้านยูโรตลอดระยะเวลา 7 ปี (2557-2563) โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ยุโรปเป็นสถานที่ผลิตนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก ด้วยการกำจัดอุปสรรคในการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมตั้งเป้าว่าจะคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นครั้งแรกของโลก ด้วยการนำสุดยอดความคิดจากห้องแล็บมาสู่ตลาด
โครงการนี้นำโดย Lek Pharmaceuticals บริษัทในเครือ Sandoz ในสโลวีเนีย ส่วนสมาชิกประกอบด้วย Sandoz GmbH (ออสเตรีย), University of Natural Resources and Life Sciences, Vienna (ออสเตรีย), Karlsruhe Institute of Technology (เยอรมนี), National Institute of Chemistry (สโลวีเนีย) และ National Systems srl (อิตาลี) โดยเมอร์คได้เข้าร่วมกลุ่มผ่านบริษัทลูกในฝรั่งเศสอย่าง มิลลิพอร์ เอส.เอ.เอส. สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการได้ที่ http://nextbiopharmdsp.eu/
เกี่ยวกับเมอร์ค
เมอร์ค คือบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำในด้านการดูแลสุขภาพ ชีววิทยาศาสตร์ และเพอร์ฟอร์แม้นซ์ แมททิเรียล พนักงานราว 50,000 คนของบริษัทได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยปรับปรุงและยกระดับคุณภาพชีวิต ตั้งแต่ยาชีวภาพเพื่อรักษาโรคมะเร็งหรือโรคปลอกประสาทอักเสบ ระบบที่ทันสมัยสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการผลิต ไปจนถึง liquid crystal ที่ใช้กับสมาร์ทโฟนและโทรทัศน์ LCD ทั้งนี้ ในปี 2558 เมอร์คทำยอดขายได้ 1.285 หมื่นล้านยูโร ใน 66 ประเทศ
เมอร์ค เป็นบริษัทเภสัชภัณฑ์และเคมีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2211 และปัจจุบันครอบครัวผู้ก่อตั้งยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมอร์คครอบครองสิทธิ์ในชื่อและแบรนด์ “เมอร์ค” ทั่วโลก ยกเว้นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งบริษัทดำเนินธุรกิจในชื่อ อีเอ็มดี โซโรโน่, มิลลิพอร์ซิกม่า และอีเอ็มดี เพอร์ฟอร์แม้นซ์ แมททิเรียล
ข่าวประชาสัมพันธ์ทั้งหมดของเมอร์คได้รับการเผยแพร่ผ่านทางอีเมลในเวลาเดียวกับที่มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของเมอร์ค กรุณาเข้าไปที่ www.merckgroup.com/subscribe เพื่อลงทะเบียนออนไลน์ เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกบริการนี้
กิตติกรรมประกาศ
โครงการนี้ได้รับเงินทุนจาก Horizon 2020 ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมภายใต้ข้อตกลงหมายเลข 635557