เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงของดีในจังหวัดสกลนคร ตามแนวคิด เมือง 3 ธรรม

0
350
image_pdfimage_printPrint

ในวันที่ 1-2 มีนาคม 2560 สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ได้ร่วมกิจกรรมกับจังหวัดสกลนคร สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดสกลนคร และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดกิจกรรมเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงของดีในจังหวัดสกลนคร ตามแนวคิด เมือง 3 ธรรม คือ เมืองแห่งธรรมมะ เมืองแห่งธรรมชาติ และเมืองแห่งวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปรับตัวและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเส้นทางการท่องเที่ยวดังกล่าว ประกอบไปด้วย ศาสนสถานสำคัญ อาทิ พระธาตุเชิงชุม วัดป่าสุทธาวาส ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พิพิธภัณฑ์บ้านป่าทุ้ม-ป่าไท้ กลุ่มวิสาหกิจทอผ้าคราม กลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับหมากเม่า กลุ่มผลิตข้าวฮางหอมสกลทวาปี ในด้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนั้น กลุ่มทอผ้าย้อมครามนับว่ามีความโดดเด่นและบทบาทสำคัญในการสร้างงานสร้างรายได้ในชุมชน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เยี่ยมชมและเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตตั้งแต่การปลูกคราม การมัดย้อม การสร้างลวดลาย และการทอ

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า BEDO ได้เข้ามาทำงานในพื้นที่ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยในระยะเริ่มแรกมุ่งเน้นในการส่งเสริมให้ชุมชนใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ การสร้างศูนย์การเรียนรู้ การจัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และการจัดการด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมร่วมกับทางจังหวัดในการจัดทำฐานข้อมูลและการจัดทำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographic Indicator: GI) และในปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา BEDO ได้ดำเนินโครงการการศึกษาศักยภาพการท่องเที่ยวพร้อมจัดทำแผนพัฒนาชุมชนต้นแบบการใช้ประโยชน์จากความ หลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว โดยใช้ชื่อว่า Biological Based Tourism Route หรือ Bio-Tourism เส้นทางท่องเที่ยวที่จัดขึ้นได้มีการเผยแพร่เพื่อเอื้ออำนวยให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้นในรูปแบบ ของแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ ที่ระบุพิกัด GPS การเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเอง นักท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน (Homestay) และนักท่องเที่ยวพักระยะยาว (Long Stay) ซึ่งการท่องเที่ยวดังกล่าวส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้ ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวจะก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน

นอกจากนั้น นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า จังหวัดสกลนครได้เห็นความสำคัญของการดำเนินงานดังกล่าว และเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในจังหวัดต้องร่วมมือกันผลักดันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ทางพาณิชย์จังหวัดร่วมกับทาง BEDO เพื่อหลอมแผนพัฒนาชุมชนต้นแบบให้กลายเป็นแผนพัฒนาระดับจังหวัดเพื่อขยายสู่ชุมชนอื่นๆ และมั่นใจว่าจังหวัดสกลนครจะมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเชิงธรรมมะ นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุและผู้สนใจในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพ และการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงและสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน