เปิดหลักสูตรพยาบาล เร่งฝึกการให้สารน้ำทางหลอดเลือดอย่างปลอดภัย

0
827
image_pdfimage_printPrint

“การให้สารน้ำทางหลอดเลือด เป็นคำที่กว้าง คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการแพทย์หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ ที่จริงมันคือ การให้น้ำเกลือ การให้ยา การให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือดทางเส้นเลือด ผ่านการแทงเข็ม” ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ประธานชมรมเครือข่ายพยาบาลผู้ให้สารน้ำทางหลอดเลือด

ปัญหาที่พบเจอในการพยาบาลผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือด คือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการทำงานของพยาบาล และการใช้เข็ม ซึ่งหากมีการใช้เข็มไม่ถูกวิธี ก็อาจก่อให้เกิดบาดแผลและเกิดการติดเชื้อกับพยาบาลและผู้ป่วยได้ การพยาบาลผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดอย่างมีคุณภาพ พยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุขจะต้องปรับความคิดที่ว่า “งานเยอะ คนไม่พอ” โดยรู้จักแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน บริหารเวลาให้ดี และมีการสลับเวรได้อย่างเหมาะสม

“ปัญหาหลัก ก็คือ บุคลากรมีภาระหน้าที่เยอะ หน้างานต้องทำให้จบ มาตรฐานมักจะมองข้ามไป ซึ่งจริงๆ แล้ว เขาต้องคิด และทำให้สมดุลควบคู่กันไป ถ้าทำไม่ดี ผลก็ออกมาไม่ดี เราก็ต้องทำงานเยอะขึ้น มาตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการอบรม เราจะพยายามเปลี่ยนความคิดเขา พยายามสอนเขาว่าหน้าที่ต้องมาพร้อมกับมาตรฐาน”

“เราเข้ามาจัดอบรม training for the trainer ให้กับพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุข เรื่องการให้สารน้ำทางหลอดเลือดและการป้องกันการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว” ดร.ภัทรารัตน์ ในฐานะหัวหน้าทีมฝึกอบรม กล่าวเปิดการอบรมหัวข้อ “การพยาบาลผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดด้วยความปลอดภัย” ระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลกลาง กรุงเทพฯ

“ปัจจุบันมีทีมผู้ให้สารน้ำทางหลอดเลือดในโรงพยาบาลรัฐ 12 แห่ง และในโรงพยาบาลเอกชนอีก 56 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลกลางถือเป็นโรงพยาบาลของภาครัฐที่มีทีมผู้ให้สารน้ำทางหลอดเลือดแห่งแรกในประเทศไทย ดังนั้นเราจะต้องฝึกฝนทีมพยาบาลให้เป็นทีมที่แข็งแกร่งและสามารถนำร่องให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ ได้”

โครงการการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บี.บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด และ GIZ ประจำประเทศไทย ได้สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยการอบรมได้มีการจัดกิจกรรมฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดรวมทั้งสิ้น 4 ฐาน ฐานแรก คือ การฝึกเลือกเส้นและการแทงเข็ม ฐานที่สอง คือ การเรียนรู้เรื่องความเข้มข้นของสารน้ำ ฐานที่สาม คือ การดูแลตำแหน่งที่แทงเข็มว่าจะดูแลหลังแทงอย่างไร ปิดแผลให้ถูกต้องได้อย่างไร และฐานสุดท้ายคือ การจัดรถเข็นฉีดยาว่าในการทำงานจริง จะต้องมีการเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง รวมถึงการจัดรถเข็นให้สามารถหยิบใช้อุปกรณ์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

นอกจากนี้ การอบรมยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แบ่งกลุ่ม เพื่อร่วมกันคิดโครงการพัฒนาคุณภาพของการพยาบาลผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรใหม่ๆ ซึ่งแผนโครงการของแต่กลุ่มจะนำไปปรับแก้ตามคำแนะนำของคณะทีมฝึกอบรม และร่างเป็นแผนการดำเนินงานจริง ภายในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2562 นี้

การอบรม “การพยาบาลผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดด้วยความปลอดภัย” จะมีขึ้นอีกในเดือนกรกฏาคม ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ และเดือนสิงหาคม ที่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ และการอบรมครั้งสุดท้ายในเดือนตุลาคม ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช

“ท้ายที่สุดแล้ว เราเชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลที่เข้ารับการอบรมจะสานต่อการเป็นผู้นำในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานความปลอดภัยไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยเราวางแผนที่จะผลิตวิดีโอเพื่อเป็นสื่อการสอนสำหรับคนไข้ ในการดูแลตนเองหลังกลับจากโรงพยาบาล พร้อมกับการทำคู่มือสอนเรื่องข้อปฏิบัติและข้อห้ามสำหรับพยาบาล ซึ่งยังไม่เคยมีในประเทศไทย และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ได้มากในแวดวงสาธารณสุข” ดร.ภัทรารัตน์กล่าวปิดท้าย