สนพ. ร่วมกับ สวทช. เดินหน้านโยบาย Energy 4.0 เปิดรับข้อเสนอโครงการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) รอบ 2 วงเงิน 403 ล้านบาท คาดหวังนำไปผลิตจริงเชิงพาณิชย์ กระตุ้นเศรษฐกิจไทย สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าตามแผน PDP2015 ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานอย่างจริงจังเพื่อปรับปรุงข้อจำกัดของเทคโนโลยี และส่งเสริมให้มีเกิดการใช้เทคโนโลยีที่ผลิตในประเทศ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ สนพ.จึงร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้เปิดรับข้อเสนอโครงการภายใต้โครงการการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) รอบที่ 2 ขึ้น ภายใต้กรอบวงเงิน 403 ล้านบาท
สำหรับกรอบงานวิจัยในรอบที่ 2 นี้ จะมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานที่นำไปใช้ในบ้านอยู่อาศัย โครงข่ายไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งงานวิจัย จะเน้น 3 ส่วนสำคัญคือ 1. มีประสิทธิภาพ 2. ใช้งานได้หลากหลาย และ 3. ราคาแข่งขันได้และสามารถนำไปสู่การผลิตใช้จริงในอนาคต โดยผู้ที่สนใจ จะต้องเป็นหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือเป็นภาคเอกชนไทยที่ประกอบธุรกิจหรือกำลังลงทุนในธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานในประเทศไทย หรือ เป็นหน่วยงานร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย สวทช. จะให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐเต็มจำนวน (100 เปอร์เซนต์) หากหน่วยงานเอกชนเป็นผู้ขอจะให้การสนับสนุนไม่เกินร้อยละ 75 โดยเริ่มเปิดให้หน่วยงานที่สนใจยื่นขอรับการสนับสนุนตั้งแต่วันนี้ – 20 พฤศจิกายน 2560 โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย สวทช. โทร. 0 2117 6447, 0 2117 6449, 0 2117 6454 หรือติดตามข้อมูลได้ที่ www.facebook.com/ThailandEnergyStorage
“ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ให้นโยบายในการดำเนินโครงการว่า นอกจากจะส่งเสริมให้มีงานวิจัยใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้ว จะต้องผลักดันให้สามารถนำมาใช้งานได้จริง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความเข้มแข็งขึ้น อันจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตดีขึ้น และประชาชนก็ได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น” ดร.ทวารัฐ กล่าว
อนึ่ง คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 765 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน (Energy Storage) โดยมอบหมายให้ สวทช. เป็นผุ้ดำเนินโครงการฯ ซึ่งจากการเปิดรับข้อเสนอโครงการฯ รอบที่ 1 เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทั้งสิ้นจำนวน 31 โครงการ รวมวงเงิน 362 ล้านบาท โดยปัจจุบันโครงการฯ ทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินงานโครงการฯ